5 วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม ลดความทรมานในคุณแม่มือใหม่อย่างได้ผล



   นอกจากการความเจ็บปวดจากการคลอดบุตรแล้ว ปัญหาถัดมาของคุณแม่แทบทุกคนก็คือ อาการปวดเต้านม คัดเต้านมนั่นเอง บางคนอาจมีอาการปวดมาก-น้อยต่างกันไป ส่วนมากก็มักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์แล้ว สำหรับคนทั่วไปอาจมองว่านั่นไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ขอบอกเลยว่าอาการนี้ทำให้คุณแม่ทั้งมือใหม่และมือเก่าทรมาน อีกทั้งยังรู้สึกไม่สบายตัวอยู่ไม่น้อย ดังนั้น คุณแม่ท่านใดกำลังมีปัญหาปวดเต้านม เต้านมคัดอยู่ ลองมาดูวิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมดังนี้กันดีกว่า
อาการเต้านมคัดเกิดขึ้นได้อย่างไร
  อาการเต้านมคัดนั้นเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แม้จะไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ผู้หญิงทั่วไปก็อาจมีอาการคัดเต้านมได้ในช่วงก่อนมีรอบเดือนได้ และกับผู้หญิงที่ตั้งท้องอาการปวดเกิดขึ้น เพราะร่างกายกำลังปรับสภาพกับระดับฮอร์โมนต่างๆ โดยจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจมีอาการไข้อ่อนๆ ร่วมด้วยแต่ก็เป็นเพียงไม่นาน เต้านมจะแข็ง มีความรู้สึกร้อนวูบบนเต้า บวมตึง ปวดทั้งเต้านมรวมไปถึงบริเวณลานนมด้วย แล้วอาการก็จะค่อยๆ ลดลงไป
  อาการปวดนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบน้ำเย็นสลับกับน้ำอุ่นจัดแล้วนวดเบาๆ ก็จะทำให้อาการปวดดีขึ้น อีกทั้งในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกใช้ชุดชั้นในที่เหมาะสมกับขนาดร่างกายที่เปลี่ยนไป โดยควรเลือกเสื้อชั้นในที่ผลิตจากผ้าฝ้ายเพื่อให้ระบายอากาศได้ดีและเร็ว จะได้ไม่อับชื้นเหงื่อ เนื้อผ้ามีความแข็งแรง และช่วยอุ้มน้ำหนักของเต้านมที่ขยายตัวเพื่อรอรับการมีบุตรได้ก็จะทำให้อาการปวดลดน้อยลงไปด้วย
วิธีบรรเทาอาการเต้านมคัดในคุณแม่หลังคลอด
1.สำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตรแล้ว ควรให้นมลูกบ่อยๆ อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นการระบายน้ำนมออกจากเต้า แม้ในเวลากลางคืนก็ควรให้ลูกได้เข้าเต้าด้วย หรือหากลูกหลับหรือไม่ยอมดูด คุณแม่ควรบีบหรือปั๊มน้ำนมออกมาเก็บไว้ โดยอาจนำไปแช่ช่องแข็งเก็บไว้ก่อนได้ หากไม่ทำเช่นนี้เช้าวันรุ่งขึ้นอาจทำให้เกิดอาการปวดคัดเต้านมได้นั่นเอง
2.ก่อนให้นมบุตรหากมีอาการปวดคัดเต้า ให้นำเอาผ้าขนหนูอุ่นๆ มาประคบเต้านมไว้ทั้งสองข้างสัก 10 นาที ความอบอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการปวด ทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น หรือช่วยบีบนวดเบาๆ ให้น้ำนมออกจากเต้ามาก่อนจนกว่าบริเวณลานหัวนมจะนุ่มตัวลง ลูกก็จะดูดนมได้ง่ายขึ้น ลดความทรมานลงไปได้เยอะ
3.หลังจากให้นมลูกแล้ว คุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดคัดเต้าได้ด้วยการประคบเย็น โดยอาจนำน้ำแข็งมาห่อผ้าขนหนูแล้วประคบที่เต้าไว้ จะทำให้อาการปวดดีขึ้นมาก
4.หากยังไม่ถึงเวลาให้นมลูก แต่กลับมีอาการปวดคัดเต้ามาก ก็ควรบีบหรือปั๊มน้ำนมออกมาแช่ตู้เย็นเก็บไว้ แต่หากมีอาการปวดจนทนไม่ไหวควรรีบปรึกษาแพทย์
5.ในช่วงการให้นมบุตร คุณแม่ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่เหมาะสมกับขนาดของเต้า โดยควรเลือกผ้าฝ้ายที่มีเนื้อนิ่มและระบายเหงื่อและความอับชื้นต่างๆ ได้ดี สวมแล้วมีความกระชับ อุ้มเต้าพอดี ไม่แน่นไม่หลวมเกินไป จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้การจัดท่าทางให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้คุณแม่มีอาการคัดเต้านมน้อยลงได้ โดยการจัดท่าให้ลูกอ้าปากได้กว้างจนอมรอบฐานหัวนมได้ทั้งหมด ให้คางกับจมูกวางบนเต้านมให้พอดี ลูกจะดูดนมได้เป็นจังหวะและกลืนนมได้สะดวก(ลูกจะกลืนน้ำนมให้ได้ยิน) เมื่อน้ำนมระบายได้ดีแล้วอาการปวดก็จะลดลงไปโดยธรรมชาติ
คุณแม่ท่านไหนกำลังมีปัญหาปวดคัดเต้านมอยู่ ลองเอาวิธีลดการปวดเต้านมเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ แต่หากทนไม่ไหวจริงๆ ลองไปพบคุณหมอ หรือเข้าร่วมกลุ่มนมแม่ เพื่อแบ่งปันวิธีลดอาการปวดเต้านมดูก็ได้เช่นกันค่ะ

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม