“เจ็บคอ” แบบไหนอันตราย ควรไปหาหมอ
วิธีรักษาอาการเจ็บคอมีอยู่มากมายขึ้นอยู่กับลักษณะอาการที่แบ่งแยกได้ว่าเป็นอาการเจ็บคอแบบไหน มีการติดเชื้อหรือไม่ หากเจ็บคอจากไข้หวัดธรรมดา ไม่มีหนอง สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทานยาฆ่าเชื้อ แต่หากมีอาการเจ็บคอในแบบอื่นๆ ช่วงเวลาอื่นๆ (ไม่ได้เป็นไข้หวัด) อาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายอื่นๆ ที่ต้องพบแพทย์เพื่อรักษาเท่านั้น
“เจ็บคอ” แบบไหนอันตราย ควรไปหาหมอ
คออักเสบแบบติดเชื้อ
หากมีอาการเจ็บคอ คอแดงอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) จนทำให้มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย (ตรวจพบเจอโดยแพทย์) เช่น มีไข้ มีจุดหนองที่ทอนซิล ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และไม่มีอาการไอ จะเป็นอาการอักเสบที่ต้องรักาด้วยยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย โดยอาจเป็นยาทานในกลุ่ม penicillin หรือ amoxicillin เป็นเวลา 10 วัน (ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่แพ้ยากลุ่มนี้)
ต่อมทอนซิลอักเสบ
บางรายมีอาการเจ็บคอค่อนข้างหนักกว่าปกติ เป็นเพราะต่อมทอนซิลอักเสบ จนอาจเกิดเป็นฝีรอบทอนซิลได้ มักพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การติดเชื้อของฟัน ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง สูบบุหรี่ โรคติดเชื้อโมโนนิวคลิโอสิส (ไข้และต่อมน้ำเหลืองโต) มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากอาการเจ็บคอแล้วยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้สูง กลืนเจ็บ กลืนน้ำลายไม่ได้ อ้าปากไม่ได้ ปวดหู เป็นต้น
แผลร้อนใน
ส่วนใหญ่แล้วแผลร้อนใน หรือเยื่อบุช่องปากอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำให้เยื่อบุในช่องปากอักเสบ ตามปกติแล้วผู้ใหญ่มักหายเองได้ตามธรรมชาติ หรืออาจมียาทาที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบให้ดียิ่งขึ้น แต่หากผู้ป่วยเป็นเด็ก แผลที่อักเสบทำให้เด็กไม่อยากทานอาหาร ไม่อยากดื่มน้ำ จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็ดทานข้าวได้น้อย รวมถึงดื่มน้ำน้อยจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นหากแผลร้อนในที่เกิดขึ้นทำให้เด็กไม่ยอมทานอาหาร หรือเป็นแผลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่หายหรือไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน ควรพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา โดยอาจเป็นยาที่ป้ายเคลือบแผลเอาไว้ ลดอาการเจ็บแสบขณะดื่มน้ำ และทานอาหาร เพื่อให้เด็กสามารถทานอาหารต่างๆ ได้ตามปกติ เป็นต้น
นอกจากนี้ หากคุณมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรพบแพทย์โดยเร็วเช่นกัน
- หายใจไม่ออก หายใจลำบาก หรือหายใจเสียงดังผิดปกติ
- กลืนลำบาก น้ำลายไหลง่าย
- คอแข็ง คอเอนไปด้านหลังแล้วก้มไม่ลง
- มีไข้มากกว่า 8 องศาเซลเซียส โดยไข้ไม่ยอมลดแม้จะทานยาลดไข้แล้ว หรือไข้กลับมาสูงใหม่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
- เจ็บคอมากจนทานอาหารไม่ได้
- อ่อนเพลีย ง่วงนอนมากจนตื่นไม่ไหว
- มีผื่นขึ้น
- ปวดศีรษะมาก
- ปวดท้องมาก
- อาเจียน
วิธีบรรเทาอาการเจ็บคอ
หากมีอาการเจ็บคอ ไม่ว่าจะด้วยอาการเจ็บคอแบบไหน สามารถช่วยให้อาการทุเลาลงได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทาน หรือดื่มของเหลว หรืออาหารที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าปกติ เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีม เยลลี่ในตู้เย็น
- ทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ (ไม่อุ่น หรือร้อนจัดจนเกินไป) หรืออาหาร และเครื่องดื่มในอุณหภูมิห้องเท่านั้น
- งดอาหารรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และอาหารที่แข็งและคม เช่น มันฝรั่งทอด ควรเลือกทานอาหารนุ่มๆ เคี้ยวและกลืนได้ง่ายๆ
- สามารถทานยาแก้ปวดได้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- สามารถใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อช่วยให้อาการเจ็บคอดีขึ้นได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น