แพทย์เตือน! ผู้สูงอายุเสี่ยงไข้หวัดใหญ่-ปอดบวม หากรุนแรงอาจถึงชีวิต
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เผยผู้สูงวัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่ เพื่อสร้างเกราะป้องกันร่างกายก่อนเชื้อร้ายจะก่อโรครุนแรง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เชื้อนิวโมคอคคัส คือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายสู่บุคคลอื่นได้เหมือนโรคไข้หวัด โดยการ ไอ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวการในการทำให้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมาจากมือ ดังนั้นการล้างมือบ่อยๆ จะเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง
อันตรายของเชื้อนิวโมคอคคัส
โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม เกี่ยวข้องกับเชื้อนิวโมคอคคัสเนื่องจากผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ แนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุควรได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่
กลุ่มเสี่ยงโรคปอดบวม และไข้หวัดใหญ่
แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่อาจเสี่ยงเป็นโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส มีดังนี้
- อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี
- เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคปอดหรือโรคไต
- ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
- โรคมะเร็ง
- ภาวะม้ามไม่ทำงานหรือไม่มีม้าม
- ใส่ชุดประสาทหูเทียม
- น้ำไขสันหลังรั่ว
- สูบบุหรี่
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
เป็นต้น
อาการของโรคปอดบวม
สามารถสังเกตอาการของโรคปอดบวมได้ เช่น มีไข้ ไอ รู้สึกหนาวสั่น เจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก
วิธีป้องกันโรคปอดบวม
- ล้างมือให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงชุมชนแออัด
- สวมหน้ากากอนามัย
- ปิดปาก และจมูกเวลาไอหรือจาม
- ควรสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคต่างๆ ของร่างกายเสื่อมถอยลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อนิวโมคอคคัสง่ายกว่าเมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว
ดังนั้นการเสริมภูมิคุ้มกันก่อนการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เสมือนการสร้างเกราะป้องกันให้กับร่างกายก่อนเชื้อร้ายจะก่อโรครุนแรง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น