จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
ใช่ว่าทุกคนจะเกิดมามีโครงสร้างใบหน้าที่ได้สัดส่วนสวยงาม อย่างบางคนมีความผิดปกติทางโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกร เช่น “มีคางยื่น” โดยขากรรไกรล่างและฟันล่างทั้งหมดยื่นออกมาด้านหน้า เมื่อเปิดปากขากรรไกรและฟันล่างจะไม่อยู่ในแนวตรงทำให้ฟันบนเหลื่อมกับฟันล่าง, “ไม่มีคางหรือคางสั้นหลุบเข้าไปด้านใน” โดยกระดูกขากรรไกรบนยื่นยาวกว่าปกติ ขณะที่กระดูกขากรรไกรล่างสั้น ทำให้ฟันบนคร่อมฟันล่างหรือฟันเหยิน ยิ้มแล้วเห็นเหงือก รวมไปถึงปัญหาคางเบี้ยว ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของความสวยงาม กลายเป็นปมด้อยหรือถูกล้อเลียนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติส่งผลในเรื่องของการใช้งาน การขบกัดและการบดเคี้ยวอาหาร ในคนไข้บางรายอาจมีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (TMDs) คือเวลาอ้าปาก-หุบปากจะมีเสียง “คลิก” ที่หน้าหูด้วย ดังนั้น การมีโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรผิดปกติจึงควรได้รับการแก้ไข
โดยทั่วไปคนที่มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรผิดปกติมักมาพบทันตแพทย์จัดฟันด้วยหวังว่าการ จัดฟัน จะช่วยได้ ขอบอกเลยว่าความผิดปกติต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น การจัดฟันเพียงอย่างเดียวช่วยแก้ปัญหาให้ไม่ได้ บางคนไปปรึกษาศัลยแพทย์ตกแต่งก็มี เพื่อขอ เสริมคาง แก้ปัญหาคางสั้น ซึ่งก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด ศัลยแพทย์ก็จะแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์อยู่ดี สำหรับการแก้ไขที่ตรงจุดที่สุดต้องทำ 2 วิธีร่วมกันคือ “การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร” ซึ่งการจัดฟันจะทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการจัดฟัน ส่วนการผ่าตัดขากรรไกรจะเป็นทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดขากรรไกรโดยเฉพาะ โดยทันตแพทย์ทั้งสองสาขาจะพูดคุยและวางแผนการรักษาร่วมกันก่อนเริ่มต้นการรักษา
ก่อนวางแผนการรักษาทันตแพทย์จะต้องตรวจเช็คก่อนว่าปัญหาของคนไข้มีมากน้อยแค่ไหน โดยการตรวจช่องปากดูการสบของฟัน ตรวจเอกซเรย์ใบหน้าเพื่อดูว่าขากรรไกรบน-ขากรรไกรล่างมีตรงไหนที่ผิดปกติหรือเบี้ยว คางหรือฟันเบี้ยวหรือไม่ เป็นต้น แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์วางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคนไป
คนไข้ที่จะเข้ารับการรักษาโดยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ถ้ามีโรคประจำตัวต้องให้แพทย์ที่ดูแลโรคนั้นๆ อนุญาตก่อนหรือโรคที่เป็นอยู่นั้นต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เนื่องจากการผ่าตัดขากรรไกรเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ ส่วนอายุที่ทำได้ควรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้องให้กระดูกขากรรไกรเจริญเติบโตเต็มที่ก่อน ถ้าอายุยังไม่ถึงทันตแพทย์จะให้รอไปจนกว่าอายุจะถึงเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับการรักษาด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรจะประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้
1.การจัดฟันก่อนการผ่าตัด (Presurgical Orthodontics) เพื่อเตรียมฟันให้อยู่ในสภาพที่ดีโดยใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นเคลื่อนฟันในแต่ละขากรรไกรไปในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับขากรรไกรนั้นๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ความช้าเร็วในการจัดฟันของแต่ละคนจะนานมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับความรุนแรงของปัญหา, คนไข้ถอนฟันหรือไม่ถอนฟัน (ทันตแพทย์จะถอนฟันหากฟันซ้อนเกมาก) แต่ขอบอกก่อนว่าการจัดฟันก่อนการผ่าตัดมักจะทำให้การสบฟันรวมทั้งใบหน้าดูแย่ลง เหมือนว่าความผิดปกติดูรุนแรงขึ้น ก็อย่าตกใจเพราะสภาพดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราวและใบหน้าจะดูดีขึ้นทันทีเมื่อทำการผ่าตัดขากรรไกรในขั้นต่อไป
2. การผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic Surgery) หลังจากผ่านขั้นตอนจัดฟันเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการผ่าตัด อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าการผ่าตัดขากรรไกรเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องมีการดมยาสลบ จึงควรทำในสถานพยาบาลที่ปลอดภัย เช่น ใน รพ. ที่มีแพทย์ดมยาและอุปกรณ์ที่พร้อม ก่อนผ่าจะต้องเตรียมคนไข้ให้พร้อมทั้งในเรื่องการเตรียมตัวก่อนผ่า การพิมพ์ปาก เอกซเรย์ รวมถึงทำเฝือกสบฟันสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด
ในการผ่าตัดขากรรไกรแพทย์จะผ่าตัดแยกขากรรไกรและฟันจะถูกจัดวางใหม่ จากนั้นจึงถอยกรามไปทางด้านหลังหรือเลื่อนกรามมาด้านหน้าในตำแหน่งที่ต้องการก่อนจะใส่เหล็กสกรูยึดขากรรไกรจนกว่ากระดูกบริเวณนั้นจะสมานตัว อาจจะต้องมีการมัดฟันไว้ในตำแหน่งที่ต้องการหลายสัปดาห์ ภายหลังการผ่าตัดต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน หลังจากนั้นจึงกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านอีกประมาณ 2-4 สัปดาห์
โดยปกติหลังการผ่าตัดขากรรไกร จะเห็นรูปหน้าที่ดีขึ้น เพียงแต่ระยะแรกจะยังมีอาการบวมจึงอาจยังมองเห็นรูปหน้าได้ไม่ชัดเจน ซึ่งอาการบวมนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตกใจ ก็ให้ประคบเย็นตามที่แพทย์แนะนำ อาการบวมมากๆ จะเป็นอยู่ 3 วันหลังผ่าตัด แล้วค่อยๆ ลดลงและหายไปในระยะเวลา 3 – 6 สัปดาห์ ช่วงหลังผ่าตัดควรรับประทานอาหารเหลวเท่านั้น ควรจะขยับปากบ้างเพื่อให้กล้ามเนื้อขากรรไกรได้เคลื่อนไหว รวมทั้งหมั่นบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากตามแพทย์สั่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อเนื่องจากแผลผ่าตัดอยู่ภายในช่องปาก หลังทำการรักษาควรมาพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา
การผ่าตัดขากรรไกรก็เหมือนการผ่าตัดอื่นๆ ที่อาจมีผลข้างเคียงและผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ กระดูกไม่ต่อกัน แผลหายช้า แต่ทันตแพทย์ที่ทำการผ่าตัดก็จะหาทางป้องกันให้โอกาสเกิดน้อยที่สุด ส่วนปัญหาริมฝีปากชาที่คนมักเป็นกังวลกันนั้นก็ต้องเรียนว่าจะเกิดขึ้นกับคนไข้ทุกคน แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับได้เอง
หลังผ่าตัดเมื่อใบหน้ายุบบวมลงแล้วคนไข้ก็จะเห็นรูปหน้าที่ดีขึ้น แต่นี่ยังไม่ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการรักษา คนไข้ยังต้องมาเข้ารับการรักษาขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือ การจัดฟันหลังการผ่าตัดอีก
3. การจัดฟันหลังการผ่าตัด (Postsurgical Orthodontics) เป็นการเก็บรายละเอียดเพื่อให้รูปหน้าดูสมส่วนลงตัวมากขึ้นและการสบฟันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมากจะใช้หนังยางดึงฟันร่วมด้วย ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
จะคางสั้น คางยื่น หรือคางเบี้ยว ถ้าเกิดจากโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรผิดปกติ ขอเพียงรักษาได้ตรงจุด ก็จะช่วยให้คุณสวย-หล่อขึ้นได้ชนิดที่ว่าหลายคนเข้าใจผิดว่าไปทำศัลยกรรมหน้ามาเสียอีก ครั้นบอกว่าไม่ได้ทำก็ไม่เชื่อเพราะรูปหน้าเปลี่ยนไปเยอะ อย่างไรก็ตาม การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร ใช่ว่าทันตแพทย์เก่งอย่างเดียวแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีนะคะ คนไข้จะต้องร่วมมือในการรักษาด้วย เช่น มาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง, ดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก, ปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ เป็นต้น ก็จะช่วยให้ผลการรักษาผ่านไปได้อย่างราบรื่น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น