อันตรายจากโรค "ลมชัก" จากการไม่รีบรักษา-ปฐมพยาบาลผิดวิธี
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชักเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ก่อให้เกิดความพิการทางสมองซึ่งมีผลต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาหายได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ
อันตรายจากโรคลมชัก
โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการ บางอาการสังเกตยากทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคดังกล่าว จึงไม่ได้รักษา เช่น ภาวะเหม่อลอย เบลอ จำอะไรไม่ได้ชั่วขณะ เป็นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วหาย ทำให้ไม่ทันสังเกต ถ้ามีอาการเหล่านี้ซ้ำๆ แม้จะไม่มีอาการเกร็ง ชัก กระตุก ควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จะสามารถบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคลมชักหลายคนมีอาการ เช่น เห็นภาพหมุน เห็นภาพเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เห็นแสงจ้าสีสันหลากหลาย บางคนเห็นภาพหลอน หูแว่ว เมื่อได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง จึงพบว่ามีอาการของโรคลมชัก ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคลมชักรักษาด้วยยากันชัก ที่เหลือจัดอยู่ในกลุ่มดื้อยากันชักซึ่งอาจรักษาหายได้ด้วยการผ่าตัดซึ่งต้องผ่านการประเมินด้วยทีมแพทย์ด้านโรคลมชัก ประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ป่วยดื้อยากันชักประมาณหลายหมื่นคนและมีการผ่าตัดสมองรักษาโรคลมชักประมาณร้อยกว่ารายต่อปี เนื่องจากโรงพยาบาลที่พร้อมทุกด้านในการรักษาโรคลมชักด้วยการผ่าตัดสมองยังมีไม่กี่แห่ง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักด้วยการผ่าตัดและโรคลมชักดื้อต่อยาอย่างครบวงจรโดย รับส่งต่อผู้ป่วยจากทั่วประเทศ
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักที่ถูกต้อง
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติม การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักต้องทำให้ถูกวิธี ที่ผ่านมาพบว่ามีการเอาช้อนหรือสิ่งของต่างๆ ไปงัดปาก เพื่อป้องกันการกัดลิ้นผู้ป่วยซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการเอาสิ่งของต่างๆ เข้าปากผู้ป่วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการสำลัก หรือสิ่งของนั้นหลุดลงไปในหลอดลม เกิดการอุดตันในทางเดินหายใจ อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับวิธีที่ถูกต้องและจดจำง่าย “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเองได้” โดยสามารถให้การช่วยเหลือด้วยการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยขณะมีอาการชัก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น พลัดตก กระแทกของแข็ง ของมีคม เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยหยุดชักจึงให้ผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง คลายเสื้อผ้าให้หลวม อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท นอกจากภาวะชักเกร็งกระตุกแล้ว ยังต้องระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักเหม่อลอย เนื่องจากเมื่อมีอาการจะไม่รู้สึกตัวและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ว่ายน้ำแล้วเกิดจมน้ำ ชักขณะขับรถ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้ร่วมเส้นทางหรือทรัพย์สินได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายขณะชักได้ ซึ่งผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ควรจะทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการกำเริบจะมีภาวะชักเกร็ง กระตุก ไม่เกิน 2 นาที แต่หากชักนานถึง 5 นาที ควรรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรแจ้งหมายเลข 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่องไม่หยุด และดื้อต่อการรักษาด้วยยาเพิ่มมากขึ้นด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น