มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจพบก่อนรักษาได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เป็นโรคร้ายแรงที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของประชากรไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบได้เป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และพบได้เป็นอันดับ 5 ในผู้หญิง มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เจริญเติบโตผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ ในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะยังไม่เป็นเนื้อร้าย แต่หากไม่ได้รับการตรวจรักษาก็สามารถกลายเป็นเนื้อร้ายได้ โดยใช้ระยะเวลานานประมาณ 10 ปี
มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกมักไม่มีอาการ การตรวจในเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่แรกจะมีโอกาสรักษาหายได้ หรือมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปี ถึง 95% แต่หากเป็นระยะที่ลุกลามไปแล้ว แทบจะไม่มีโอกาสรักษาให้หายได้เลย ดังนั้น การสังเกตตนเอง การพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และการเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจดูความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น
- อายุที่มากขึ้น โดย 90% ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี
- มีก้อนเนื้อ (Polyp) ในลำไส้ใหญ่
- มีประวัติส่วนตัวเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)
- เคยส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ หรือใช้ตรวจติดตามหลังผ่าตัดมะเร็ง
- มีประวัติส่วนตัวเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม หรืออวัยวะอื่น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีประวัติบุคคลในครอบครัว บิดา มารดา พี่ น้อง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเป็นติ่งเนื้อ
- มีประวัติโรคทางกรรมพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว เช่น HNPCC หรือ Polyposis Syndromes
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- ความอ้วน
วิธีการตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มี 6 วิธี ดังนี้
- การตรวจทวารหนักโดยแพทย์
- การตรวจเลือดในอุจจาระ
- การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ที่สวนสารทึบแสง
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT scan)
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy)
- การตรวจสายพันธุกรรม ในครอบครัวที่มีประวัติโรคทางกรรมพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่
วิธีการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนที่สุดคือ การตรวจพบเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อที่สงสัย ซึ่งวิธีการที่จะนำเนื้อเยื่อที่สงสัยออกมาตรวจ สามารถทำได้โดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ร่วมกับการตัดเนื้อเยื่อผ่านทางกล้องหรือการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ที่มีก้อนออกมาตรวจโดยตรง ภายหลังการวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจทางรังสี เพื่อประเมินระยะของโรคในเบื้องต้น และประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อประกอบการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
ขอบคุณ รพ.ยันฮี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น