น้ำต้มเดือดหลายครั้ง “เสี่ยงโรค” จริงหรือ



น้ำต้มเดือดหลายครั้ง “เสี่ยงโรค” จริงหรือ

   สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุถึงการนำน้ำประปามาต้มให้เดือดหลายๆ ครั้ง โดยไม่เปลี่ยนน้ำใหม่เอาไว้ ดังนี้
  “ตามที่มีการแชร์ข้อมูลว่า น้ำประปานั้นเอามาต้มให้เดือดหลายๆ ครั้ง โดยไม่เปลี่ยนน้ำใหม่ จะทำให้สารซิลเวอร์ไนเตรทในน้ำประปา กลายมาเป็นสารซิลเวอร์ไนไตรท์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะในน้ำประปาไม่มีซิลเวอร์ไนเตรทอยู่ และการต้มน้ำให้เดือดก็ไม่ทำให้ซิลเวอร์ไนเตรทเปลี่ยนเป็นซิลเวอร์ไนไตรท์ ซึ่งการเกิดซิลเวอร์ไนไตรท์นั้น เกิดจากสารซิลเวอร์ไนเตรททำปฏิกิริยากับสารกลุ่มอัลคาไลน์ไนไตรท์ เช่น โซเดียมไนไตรท์ โดยสารซิลเวอร์ไนไตรท์จะไม่ละลายน้ำ แต่จะตกตะกอนออกมาแทน”
แต่อย่างไรก็ตาม ทาง อย. ระบุว่า หากจะใช้วิธีต้มน้ำให้เดือดก่อนนำมาดื่ม หรือปรุงอาหาร ทาง อย. มีคำแนะนำ ดังนี้
“การใช้หม้อต้มน้ำประปา หากมีการเปลี่ยนน้ำ และล้างหม้อทำความสะอาดหม้อต้มเป็นประจำ จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการสะสมตะกอนของสิ่งสกปรกที่อาจจะปนเปื้อนมาในน้ำ”

ต้มน้ำให้เดือดหลายๆ ครั้ง มีอันตรายหรือไม่

    แม้ว่าจะไม่ได้มีพิษจากซิลเวอร์ไนไตรท์แต่อย่างใด แต่การต้มน้ำเดือด ทิ้งไว้จนเย็น แล้วต้มต่ออีกหลายๆ ครั้ง เหมือนคนที่ใช้กาน้ำร้อนต้มน้ำเพื่อชงชา กาแฟ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า
“หากน้ำที่คุณใช้ต้มนั้นเป็นน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำบาดาล น้ำบ่อ หรือน้ำประปา ที่เป็นกรดในหม้อโลหะแล้วนั้น หากต้มหลายๆ ครั้งก็จะยิ่งทำให้น้ำนั้นงวดและเกิดเป็นก้อนแข็งๆ ยึดเกาะตามผิวของกาหรือกระติกน้ำร้อน หรือที่เรียกว่า ตะกรันธาตุ ตกปนลงมาในน้ำมากขึ้น รวมถึง ‘น้ำแร่’ แบบที่เศรษฐีชอบดื่มกัน เพราะคิดว่าสะอาดก็ต้องระวัง เพราะต้มนานๆ ไปก็จะได้ตะกรันแถมเช่นกัน”
“ดังนั้น จึงไม่ควรดื่มน้ำที่ต้มเดือดแล้วหลายๆ ครั้ง ทางที่ดี ควรต้มน้ำแต่ละครั้งให้พอดีกับที่ใช้ดื่ม และจำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำทุกครั้งหากต้องต้มน้ำให้เดือดใหม่ สำหรับกาต้มน้ำที่ใช้ชงกาแฟก็ไม่ควรตั้งกาต้มน้ำร้อนไว้ให้เดือดตลอดเวลา เพราะอาจจะทำให้โลหะกร่อนลงมาปนได้ หมั่นเปิดฝากาดู หากเห็นมีคราบตะกรันติด ควรล้างกาทันที”

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม