คนชอบดื่มน้ำเย็นต้องรู้ไว้ ! เพิ่มความเสี่ยงเป็นนิ่วในไตจริงหรือ ?
ดื่มน้ำน้อยเสี่ยงเป็นนิ่วในไตจริงไหม ?
พูดถึงประเด็นดื่มน้ำน้อยกันก่อน เรื่องนี้เป็นความจริงค่ะ โดย อ.นพ.มนินธ์ อัศวจินตจิตร์ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวผ่านรายการชัวร์ก่อนแชร์ ทางสำนักข่าวไทย ว่า คนที่ดื่มน้ำน้อยจะทำให้สารก่อนิ่วมีความเข้มข้นสูงในปัสสาวะ สุดท้ายจะเกิดการจับตัว ตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วขึ้นมาได้
ดื่มน้ำเย็นจัดบ่อย ๆ ก็เสี่ยงนิ่วในไตด้วยหรือ ?
แต่สำหรับกรณีดื่มน้ำเย็นจัดนั้น อ.นพ.มนินธ์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในไตได้ ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่เป็นความจริง
เช่นเดียวกับ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิง ที่ระบุในทวิตเตอร์ @thidakarn ว่า การดื่มน้ำเย็นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต ซึ่งจริง ๆ แล้วนิ่วในไตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลักป้องกันเบื้องต้นคือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอทุกวัน ถ้ามีติดเชื้อทางเดินปัสสาวะควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ไม่รับประทานเครื่องในสัตว์หรือหน่อไม้มากจนเกินไป
แล้วนิ่วในไตเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
นิ่วในไต เป็นก้อนผลึกขนาดเล็ก ประกอบด้วยหินปูน (แคลเซียม) กับสารเคมีอื่น ๆ เช่น ออกซาเลต เป็นต้น หรือบางรายอาจจะมีขนาดใหญ่ที่เกิดจากสารตกค้างต่าง ๆ ทั้งจากสารอาหารที่เรากินเข้าไป หรือกรดบางชนิดที่ร่างกายขับออกไม่หมด เช่น กรดยูริก โดยเจ้าก้อนนิ่วนี้ไม่ได้สร้างแค่ความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว แต่ยังไปเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคไตอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไตมีหลายประการ เช่น เกิดจากการเสียสมดุลของสารก่อนิ่วกับสารยับยั้งนิ่ว ซึ่งปกติจะขับออกมาในปัสสาวะ ถ้าหากมีสารก่อนิ่วขับออกมากับปัสสาวะมากผิดปกติก็จะจับตัวกลายเป็นตะกอน เมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จับตัวกันกลายเป็นก้อนนิ่วได้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น แคลเซียม หรือออกซาเลตมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วได้ในผู้ป่วยบางราย
นิ่วในไต ป้องกันได้ไหม ?
นิ่วในไตสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เช่น
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากกว่าวันละ 8 แก้วหรือ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายสร้างน้ำปัสสาวะตลอดเวลา จะช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้
- ลดอาหารบางประเภทลง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารที่มีกรดยูริกสูง (หนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน) อาหารที่มีออกซาเลตสูง (งา ผักโขม ถั่วต่าง ๆ ช็อกโกแลต และชา)
- พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้นและช่วยลดความเครียด
ทั้งนี้หากใครมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะนี่คือสัญญาณเตือนของโรคนิ่วในไตได้เช่นกันค่ะ
- นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น