ยาเลื่อนประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิดเลื่อนประจำเดือน ทำงานอย่างไร




ยาเลื่อนประจำเดือนคืออะไร

  ยาเลื่อนประจำเดือน คือยานอร์อิทิสเตอโรน 5 มิลลิกรัม (Norethisterone 5 mg) เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) สังเคราะห์ชนิดหนึ่งชื่อ โปรเจสติน การทำงานของยานอร์อิทิสเตอโรนคือ จะหยุดการเจริญเติบโตตามปกติของผนังมดลูก ในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน และเปลี่ยนแปลงการส่งสัญญาณของฮอร์โมนในมดลูก เพื่อฟื้นฟูรอบประจำเดือนให้เป็นปกติ โดยมีการใช้งานในกรณีดังต่อไปนี้
  • ใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือน
  • ใช้เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติจากมดลูก
  • ใช้เพื่อบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS, Pre-menstrual syndrome) เช่น เจ็บหน้าอก ปวดหัว ไมเกรน ภาวะคั่งน้ำ และอารมณ์หงุดหงิด
  • การเจ็บปวดหรือการมีประจำเดือนมาก
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • มะเร็งเต้านมบางชนิด

 

วิธีกินยาเลื่อนประจำเดือน

  กรณีที่ต้องการเลื่อนประจำเดือน ให้กินยานอร์อิทิสเตอโรน 5 มิลลิกรัม ก่อนวันที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนประมาณ 3 วัน และกินยาไปจนกระทั่งถึงวันที่ต้องการเลื่อนประจำเดือน เมื่อหยุดกินยานอร์อิทิสเตอโรนแล้ว คุณจะมีประจำเดือนภายในเวลา 2-3 วัน สำหรับวิธีการกินยา ถ้าคุณมีน้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม ให้กินยานอร์อิทิสเตอโรน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ส่วนถ้าคุณมีน้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัม ให้กินยานอร์อิทิสเตอโรน 5 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

 

ผลข้างเคียงจากการกินยา

  ควรแจ้งให้คุณหมอทราบอย่างละเอียดหากมีโรคประจำตัว หรือมีประวัติการแพ้ยา และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรทันที
  • วิงเวียนศีรษะ และอาเจียน
  • ปวดหัว
  • อารมณ์แปรปรวน
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • น้ำหนักขึ้นหรือน้ำหนักลดลง
  • เต้านมคัด
  • ความสนใจทางเพศเปลี่ยนแปลง

 

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือน

  ไม่แนะนำให้วัยเด็ก และวัยรุ่นกินยาเลื่อนประจำเดือน รวมทั้งผู้ที่แพ้ยานอร์อิทิสเตอโรน หรือส่วนผสมในตัวยานอร์อิทิสเตอโรน ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือมีแนวโน้มว่าจะตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอาการโรคดังต่อไปนี้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด
  • มีอาการของการมีลิ่มเลือด (blood clot) เช่น เจ็บหน้าอก หายใจสั้น หรือการไอ
  • เบาหวานที่ทำให้หลอดเลือดเสียหาย
  • ผิวเหลือง เนื่องจากโรคดีซ่านจากการตั้งครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic jaundice of pregnancy)
  • มีอาการคันทั่วร่างกาย เนื่องจากอาการคันจากการตั้งครรภ์ (pruritus of pregnancy)

 

การใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือน

  นอกหนือจากการใช้ยานอร์อิทิสเตอโรนเพื่อเลื่อนประจำเดือนแล้ว หากคุณกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 21 เม็ดและ 28 เม็ด คุณก็สามารถใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือนได้ โดยวิธีการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือนทำได้ดังนี้
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 21 เม็ด โดยปกติต้องกินจนหมดแผงและหยุดกิน 7 วันก่อนเริ่มแผงใหม่ ซึ่งหลังจากหยุดกินยาคุมกำเนิดประมาณ 1-3 วันจะมีประจำเดือน แต่หากต้องการเลื่อนประจำเดือน ให้เริ่มกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่โดยไม่ต้องหยุดกินเป็นระยะเวลา 7 วัน
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 24 เม็ด ชนิดแผง 24 เม็ดจะมีตัวยา 24 เม็ดและเม็ดแป้ง 4 เม็ด โดยเม็ดแป้งจะมีสีและขนาดต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างชัดเจน หากต้องการกินยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือน ให้เริ่มกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่ โดยไม่ต้องกินเม็ดแป้ง 4 เม็ด
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 28 เม็ด ชนิดแผง 28 เม็ดจะมีตัวยา 21 เม็ดและเม็ดแป้ง 7 เม็ด โดยเม็ดแป้งจะมีสีและขนาดต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างชัดเจน หากต้องการกินยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือน ให้เริ่มกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่ โดยไม่ต้องกินเม็ดแป้ง 7 เม็ด

 

ทำไมยาคุมกำเนิดถึงเลื่อนประจำเดือนได้

  ยาเม็ดคุมกำเนิดได้รับการออกแบบมาให้เลียนแบบการมีรอบเดือนตามธรรมชาติ โดยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 28 เม็ด จะบรรจุยา 28 เม็ดแต่มีเพียง 21 เม็ดที่มีฮอร์โมนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และอีก 7 เม็ดที่เหลือไม่ส่งผล หรือที่เรียกกันว่า ‘เม็ดแป้ง’ การมีเลือดออกที่เกิดขึ้นระหว่างสัปดาห์ที่คุณกินยาคุมกำเนิด เรียกว่า เลือดคล้ายประจำเดือน (withdrawal bleeding) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการหยุดฮอร์โมน ถ้าคุณข้ามการกินเม็ดแป้ง 7 เม็ด และเริ่มกินยาแผงใหม่ทันที คุณจะไม่มีภาวะเลือดคล้ายประจำเดือน เลือดคล้ายประจำเดือนที่เกิดขึ้นในช่วงที่คุณกินเม็ดแป้งนั้น ไม่เหมือนกับประจำเดือนปกติ และเป็นการมีเลือดออกที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย คุณจึงสามารถกินยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือนได้

 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือน

  เกิดภาวะเลือดออกมาก (Breakthrough bleeding) หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยในช่วงที่มีประจำเดือน ถือเป็นอาการที่พบบ่อยเมื่อคุณกินยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก ภาวะเลือดออกมากตามปกติจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อร่างกายของคุณปรับตัวได้ นอกจากนี้การเลื่อนประจำเดือนอาจทำให้ยากในการบอกว่าคุณตั้งครรภ์หรือไม่ หากมีอาการแพ้ท้อง เต้านมคัด หรือรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม