7 วิธีลดเสี่ยง ฟ้าผ่า-ไฟฟ้าช็อต ในหน้าฝน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังการถูกฟ้าผ่า เสี่ยงเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและการบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เฉพาะเดือนเมษายน ปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย พร้อมแนะหลีกเลี่ยงการทำงานในที่โล่ง สวมใส่หรือสัมผัสโลหะเป็นสื่อนำไฟฟ้า รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างที่มีฝนตก ฟ้าคะนอง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ ประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และในบางพื้นที่ในช่วงฝนตก อาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมแรง รวมทั้งอาจมีปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยจากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากโรงพยาบาลเครือข่าย 33 แห่ง ระหว่างปี 2555–2559 มีรายงานผู้ถูกฟ้าผ่า จำนวน 149 ราย เสียชีวิต 28 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 110 ราย เพศหญิง 39 ราย อาชีพผู้ใช้แรงงานพบสูงสุด ร้อยละ 34.9 รองลงมาเกษตรกรรม ร้อยละ 31.5 โดยพบว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือ เวลา 15.00 – 16.59 น. (56 ราย)
ข้อมูลล่าสุดจากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากฟ้าผ่า ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างปี 2559–2561 (ม.ค.-เม.ย.) มีรายงาน 14 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บ 46 ราย เสียชีวิต 20 ราย สถานที่เกิดเหตุคือกลางทุ่งนาที่โล่งและใต้ต้นไม้ เท่ากันคือร้อยละ 28.5 เฉพาะในเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา ได้รับรายงาน 4 เหตุการณ์ บาดเจ็บ 7 ราย เสียชีวิต 4 ราย จากจังหวัดบุรีรัมย์ สระแก้ว พิจิตร และลพบุรี โดยเกิดเหตุกลางทุ่งนา 3 เหตุการณ์ และใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้บริเวณจอดลานเฮลิคอปเตอร์ 1 เหตุการณ์
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือ ช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน สาเหตุส่วนใหญ่ที่คนถูกฟ้าผ่ามักเกิดจากการทำงานในที่โล่ง หรืออยู่ใกล้บริเวณที่อาจมีวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจมีการสวมใส่หรือสัมผัสโลหะที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างที่มีฝนตกและฟ้าคะนอง
ทั้งนี้ การบาดเจ็บและเสียชีวิตขึ้นอยู่กับลักษณะของฟ้าผ่า และความสามารถของกระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านเข้าสู่ร่างกาย กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนในช่วงครึ้มฟ้าครึ้มฝน และช่วงฝนตกฟ้าคะนอง ควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงทำงานกลางทุ่งนา ไร่ และสวน
- ไม่ควรยืนหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ ควรหลบในบ้านหรืออาคาร
- ในกรณีหากหาที่หลบไม่ได้ ให้ทำตัวต่ำลงด้วยการนั่งยองๆ ซุกศีรษะไว้ระหว่างเข่า แขนแนบกับเข่า เอามือปิดหูไว้ เท้าชิดกันหรือเขย่งอยู่บนปลายเท้า เพื่อให้ผิวสัมผัสกับพื้นดินให้น้อยที่สุดและให้ส้นเท้าทั้งสองข้างแตะกัน ไม่ควรหมอบตัวราบไปกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจจะวิ่งมาตามพื้นดินได้
- ไม่ควรสัมผัสกับโลหะทุกชนิดที่อาจเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า เช่น การสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ
- ไม่สัมผัสหรือใช้อุปกรณ์การทำงานที่เป็นโลหะต่างๆ เช่น เครื่องมือซ่อมแซม และเครื่องมือเกษตร
- หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น ลงเล่นน้ำในทะเล หนอง คลอง ซึ่งอาจเป็นตัวนำไฟฟ้าได้
- หลีกเลี่ยงใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขณะอยู่นอกอาคารช่วงฝนตกฟ้าคะนอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น