6 วิธีเช็ค อาการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อตึง เกิดจากความเครียด ใช่หรือไม่
ความเครียด เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความเครียดอาจเป็นต้นเหตุของการบาดเจ็บได้โดยตรง เช่น เมื่อมีภาวะความเครียดเกิดขึ้น กล้ามเนื้อจะตึง เกร็ง ระบบประสาทจะตึง และความสามารถในการนำกระแสประสาทลดลง ทำให้ล้าได้ง่าย เมื่อกล้ามเนื้อมีความตึงมาก ย่อมส่งผลต่ออาการปวด เพราะกล้ามเนื้อทำงานยังคงค้างอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับคนที่ถือของค้างไว้ตลอดเวลา กล้ามเนื้อย่อมทำงานมากกว่าคนที่ถือแล้ววาง และเมื่อต้องทำงานชนิดเดียวกันในความหนักเท่าๆ กัน คนที่เครียดต้องใช้พลังงานมากขึ้นกว่าคนที่ไม่เครียด การเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของคนที่เครียดจึงมากกว่า
เช็คอย่างไรว่าการบาดเจ็บนั้นเกิดจากความเครียด
ทั้งงานและความเครียดทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าขณะนี้การบาดเจ็บที่มีอยู่เกิดจากโต๊ะ เก้าอี้ ท่าทางการทำงานไม่เหมาะสม หรือจากความเครียด หรือทั้ง ๒ อย่างร่วมกัน เรามีหลักการง่ายๆ ที่สามารถนำไปใช้ทดสอบ โดยปรับเปลี่ยนโต๊ะ เก้าอี้ หรือ สถานการณ์การทำงานในรูปแบบต่างๆ กัน แล้วดูผลจากอาการที่เปลี่ยนไป
1. หากได้หยุดงานแล้วไปเที่ยว แม้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวนั้นต้องใช้แรง กำลัง หรืออดหลับอดนอน แล้วพบว่าอาการหายไป หรือดีขึ้นขณะเที่ยว จากนั้นเมื่อกลับจากเที่ยว อาการกลับมาอีก แสดงว่าอาการที่เป็นอยู่มีผลจากความเครียดค่อนข้างมาก
2. หากทำงานในรูปแบบเดียวกัน แต่เปลี่ยนสถานที่ไป (ในที่ที่ไม่ใช่ที่ทำงาน) โดยลักษณะโต๊ะเก้าอี้ ไม่แตกต่างไปจากเดิม หากอาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแสดงว่า อาการนั้นน่าจะมาจากความเครียด
3. หากจัดโต๊ะด้วยการวางดอกไม้ เลี้ยงปลา หรือเปิดวิทยุ ฟังเพลงเพื่อการผ่อนคลาย แล้วมีผลทำให้อาการดีขึ้น แสดงว่า อาการปวดนั้นมีผลมาจากความเครียด
4. หากทำงานในรูปแบบเดียวกัน สถานที่เดียวกัน แต่ทำให้กับแฟน หรือเพื่อน ด้วยความเต็มใจและไม่ต้องมีความรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่องานนั้น แล้วพบว่าไม่ทำให้เกิดอาการปวดแม้ว่างานนั้นจะหนักก็ตาม แสดงว่าอาการปวดที่เป็นอยู่นั้นมาจากความเครียด
5. หากนั่งโต๊ะทำงานที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ความหนักของงานเท่าเดิม แต่วันนั้นเป็นวันที่จะมีงานเลี้ยง หรือมีกิจกรรมที่ชอบรอคอยอยู่ แล้วพบว่าวันนั้น อาการไม่หนักเท่าวันก่อนๆ แสดงว่า อาการที่เป็นอยู่เป็นผลมาจากความเคียด
6. หากงานหนักคงเดิมตลอด แต่มีการปรับท่าทางการทำงาน หรือโต๊ะ เก้าอี้ แล้วส่งผลให้อาการดีขึ้น แสดงว่า อาการนั้นน่าจะมาจากปัญหาของ โต๊ะ เก้าอี้ หรือท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม
หากสังเกตจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วพบว่า มีความไม่แน่นอนของอาการ เป็นไปได้ว่า ปัญหาอาจมาจากทั้งความเครียด โต๊ะ เก้าอี้ ไม่เหมาะสม หรือท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้องก็เป็นได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น