4 อาชีพเสี่ยง "โรคผิวหนังจากสารเคมี"


  โรคผิวหนัง จากสารเคมี



  นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี เป็นโรคที่พบบ่อยมากในกลุ่มผู้ที่ทำงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอย่างแพร่หลาย มีการใช้งานที่ไม่เหมาะสม หรือหากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงโดยไม่มีเครื่องป้องกัน จะทำให้เกิดการระคายเคืองเกิดผื่นคันภูมิแพ้ที่ผิวหนัง และอาจเป็นโรคผิวหนังได้

อาชีพเสี่ยงโรคผิวหนังจากสารเคมี

อาชีพที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังจากสารเคมีได้แก่
  1. คนงานก่อสร้างที่ผสมปูนซีเมนต์
  2. คนงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เครื่องหนัง ยางสีย้อมผ้า กาวพลาสติก เส้นใยแก้ว สีพ่น รวมทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันเครื่อง
  3. คนที่ต้องทำงานสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะชุบนิกเกิล งานอุตสาหกรรมทำเครื่องหนัง ดอกไม้พลาสติก
  4. เกษตรกรที่ต้องใช้ปุ๋ยสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

วิธีป้องกันโรคผิวหนังจากสารเคมี

     ผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าวข้างต้นควรดูแลสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรระวังเป็นพิเศษ โดยสวมอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น สวมถุงมือที่ทำจากวัสดุพีวีซีหรือยาง ใช้ผ้ากันเปื้อน หรือสวมชุดป้องกัน เป็นต้นโดยเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงาน หากมีอาการแพ้หรือมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป        นายแพทย์สมบูรณ์  ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโรคผิวหนังทำให้เกิดการระคายเคือง ผื่นคัน และมักเป็นๆ หายๆ เกิดปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ดังนั้นแนวทางการป้องกันโรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี ได้แก่ หยุดสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือภูมิแพ้โดยเลือกใช้สารที่อันตรายน้อยกว่าหรือปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีโอกาสสัมผัสกับสารต่างๆให้น้อยที่สุด หมั่นทำความสะอาดพื้นบริเวณที่ทำงานเป็นประจำ และใช้ครีมทามือเพื่อป้องกันสารระคายเคือง ช่วยให้ทำความสะอาดมือง่ายขึ้น หรือใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทาผิวช่วยลดความแห้งตึงของผิวได้ หากมีบาดแผลต้องรีบทำความสะอาด  และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่สะอาดถ้าหากมีการระคายเคืองหรือผดผื่นเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากกรณีที่ผิวหนังแห้ง แตก เป็นแผล หากติดเชื้อจะทำให้โรคผิวหนังที่เป็นอยู่ลุกลามมากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม