พบผู้ป่วย “อัมพาต” ทุกๆ 4 นาที สาเหตุจากโรค “หลอดเลือดสมอง”
โรคอัมพาต คืออะไร
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคอัมพาต คือโรคของหลอดเลือดสมองที่มีความผิดปกติส่งผลให้เนื้อสมองสูญเสียหน้าที่อย่างเฉียบพลัน จนทำให้กล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ สาเหตุของโรคอัมพาตมาจากการอุดตัน ตีบ หรือแตกของหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ ปัจจุบันคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป มีผู้ที่ป่วยโรคอัมพาต 1,880 คนต่อประชากร 100,000 คน และทุก 4 นาทีจะมีผู้ป่วยโรคอัมพาตรายใหม่ 1 คน และทุกๆ 10 นาที ผู้ป่วยอัมพาตเสียชีวิต 1 คน
กลุ่มเสี่ยงโรคอัมพาต
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- อ้วน
- สูบบุหรี่
- ไม่ออกกำลังกาย
การรักษาโรคอัมพาต
ถึงแม้โรคอัมพาตคร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ได้ผลดี โดยเฉพาะโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เนื่องจากมีการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ แต่จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันประชาชนได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงอาการของโรคอัมพาตซึ่งต้องรีบมารับการรักษาให้เร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากมีอาการ และอาจกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้ทุกสิทธิการรักษา โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งที่มีศักยภาพในการรักษาสามารถให้บริการด้วยระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง(stroke fast track) เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างทันท่วงที
อาการของโรคอัมพาต
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ อธิบายว่า ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ได้แก่
- ปากเบี้ยว
- หลับตาไม่สนิท
- แขน ขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง
- พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก พูดลำบาก
โดยอาการทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หรือโทร 1669 เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย ซึ่งทีมแพทย์และพยาบาลมีความพร้อมให้การรักษาอย่างทันที โดยการซักประวัติอาการเบื้องต้น ร่วมกับการตรวจเลือด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ หากผลการตรวจพบว่ามีภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน มีความรุนแรงของโรคไม่มากเกินไป และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีโอกาสหายเป็นปกติภายหลังการรักษาไปแล้ว 3 เดือนสูงถึงร้อยละ 50
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น