6 วิธีง่ายๆ หลีกเลี่ยง “อาหารเป็นพิษ”
อากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา เสี่ยงอาหารเป็นพิษสูงกว่าปกติ เพราะเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะพอเจาะสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหลายที่ทำร้ายร่างกายของเราได้อย่างง่ายดาย แต่ ก็มีวิธีหลีกเลี่ยงโรคอาหารเป็นพิษได้ง่ายๆ
โรคอาหารเป็นพิษที่เกิดขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- โรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าไปเจริญเติบโต และสร้างสารพิษในร่างกาย เช่น
- ซาลโมเนลลา (Salmonella spp.)
- อีโคไล (Escherichia coli.)
- ชิเกลลา (Shigella spp.)
- เยอร์ซีเนีย (Yersinia enterocolitica)
เป็นต้น
- โรคอาหารเป็นพิษ ที่เกิดจากการทานอาหารที่มีเชื้อจุลินทรีย์สร้างขึ้นไว้ในอาหารอยู่แล้ว (ไม่ได้รับการปนเปื้อนมาจากแหล่งอื่นๆ ที่ไหน) เช่น
- สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
- คลอสตริเดียม โบทูไลนัม (Clostridium Botulinum)
อาการของโรคอาหารเป็นพิษ
ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจุลินทรีย์ด้วยวิธีใด อาการของโรคอาหารเป็นพิษจะมีลักษณะส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกัน คือ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย บางรายอาจมีไข้สูง อาเจียน หากถ่ายท้องจนขาดน้ำมากเกินไป อาจเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณ และชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย
6 วิธีง่ายๆ หลีกเลี่ยง “อาหารเป็นพิษ”
- รักษาความสะอาด ล้างมือก่อนทานอาหาร หยิบจับอาหาร และขนมต่างๆ เข้าปาก เตรียมอาหารก่อนปรุง (ล้างอุปกรณ์ทำอาหารให้สะอาดด้วย) และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ทางที่ดีควรล้างมือทุกครั้งที่กลับมาจากการเดินทางนอกบ้าน เพราะเราอาจจับสิ่งของที่เป็นสาธารณะอย่าง ที่จับบนรถเมล์ ที่จับประตู ปุ่มลิฟท์ เป็นต้น
- แยกอาหารสดที่ยังไม่ผ่านความร้อน ออกจากอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเตรียมอาหาร การแบ่งอาหารใส่ภาชนะ และการใช้มีด ใช้เขียงเพื่อหั่น เพราะอาจมีการถ่ายเทเชื้อจุลินทรีย์จากอาหารดิบไปสู่อาหารสุกในขณะปรุงอาหาร หรือเก็บอาหารได้
- ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงทุกครั้ง ใช้ความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส
- เก็บรักษาอาหารเอาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม อาหารที่ปรุงสุกแล้ว หากต้องการเก็บเอาไว้ทานต่อเพื่ออุ่นทานใหม่ในวันอื่น ควรเก็บอาหารเอาไว้ในภาชนะที่ปิดสนิท และเก็บไว้ในที่อุณหภูมิน้อยกว่า 5 องศาเซลเซียส ไม่ควรทิ้งอาหารปรุงสุกเอาไว้ในอุรหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมง ส่วนอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ ควรเก็บเอาไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส และเนื้อสัตว์ดิบ ควรเก็บเอาไว้ในที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส
- ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และทำความสะอาดอุปกรณ์ในการปรุง และทานอาหารต่างๆ และเลือกทานอาหารที่สดใหม่ มีคุณภาพอยู่เสมอ อย่ามัวแต่เห็นแต่ของเก็บเก่าราคาถูกมาก เพราะอาจมีเชื้อจุลินทรีย์ที่เรามองไม่เห็นก่อตัวอยู่ข้างในเรียบร้อยแล้ว
- หากจำเป็นต้องเลือกซื้ออาหารบรรจุถุงกันร้อน เช่น กับข้าวต่างๆ ควรเลือกซื้อร้านที่อาหารอยู่ในภาชนะที่มีฝาปิด หรือมีอุปกรณ์ที่ปกป้องอาหารจากฝุ่นละออง พ่อค้าแม่ค้าควรมีอุปกรณ์ที่ป้องกันสิ่งสกปรกตกลงไปในอาหาร เช่น ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุมผม เป็นต้น และทุกครั้งหลังซื้ออาหารปรุงสุกจากนอกบ้านเข้ามาทานในบ้าน ควรอุ่นอาหารให้ร้อน หรือเดือดก่อนทานทุกครั้ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น