มะดัน แก้ไข้หวัด ผลัดผิวขาว


       มะดันเป็นผลไม้และเครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยวคู่กับครัวไทยมาช้านาน มักนำผลและยอดอ่อนปรุงแต่งรสเปรี้ยวในต้มยำปลา ได้รสชาติจี๊ดถูกใจ บ้างก็เอาลูกทำน้ำพริกมะดัน หรืออาหารเก่า ๆ ค่อนโบราณก็พวกแกงเผ็ดมะดันหมูย่างหรือเป็ดย่าง ส่วนยอดอ่อนก็นำไปจิ้มน้ำพริก แต่ปัจจุบันการนำมะดันมาปรุงอาหารลดน้อยลง จะพบแค่เพียงนำมาทำมะดันแช่อิ่ม มะดันจิ้มพริกเกลือหรือน้ำปลาหวาน
    




          มะดันจัดเป็นต้นไม้คู่บ้านเรือนคนไทยอีกประเภทหนึ่งที่มักปลูกข้างบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่เป็นสวนท้องร่องหรืออยู่ติดชายน้ำ จะเห็นต้นมะดันเจนตา คนในวัยปู่ย่าตายายเราจึงมีเรื่องเล่าสนุกสนานถึงความซุกซนในวัยเด็กกับการเก็บมะดันมาลิ้มรส
    
          พืชที่มีรสเปรี้ยวและนำมาปรุงแต่งรสอย่างเช่นมะดันนั้นมีหลายอย่าง เช่น ตะลิงปลิง มะนาว มะนาวควาย มะงั่ว แตกต่างกันไปตามประเภทของอาหาร แต่ปัจจุบันคนไทยรุ่นใหม่ ๆ ติดความเปรี้ยวของมะนาว เลยลิ้มรสเปรี้ยวของพืชอย่างอื่นแล้วไม่ถูกใจ

          ในการแพทย์แผนไทยจัดว่ามะดันเป็นพืชมหัศจรรย์ตัวหนึ่งที่มีความเปรี้ยวทุกส่วนของต้น เรียกว่าเปรี้ยวทั้งราก ต้น ดอก ใบ ผล ครบตั้งแต่รากจรดปลายยอด ซึ่งต่างจากพืชสมุนไพรในกลุ่มเดียวกันที่อาจมีราก ดอก ใบ รสอื่น แม้ผลจะมีรสเปรี้ยวก็ตาม

สรรพคุณของมะดัน



  
           ราก รสเปรี้ยว แก้เบาหวาน แก้ไข้หวัด แก้ไข้ทับระดู ขับฟอกโลหิต ขับเสมหะในลำคอ แก้กระษัย แก้ระดูเสีย เป็นยาระบายอ่อน ๆ 

           เปลือกต้น รสเปรี้ยว แก้ไข้ทับระดู แก้โลหิตระดู 

           ใบ รสเปรี้ยว แก้หวัด แก้ไอ แก้กระษัย แก้เสมหะพิการ 

           รกมะดัน รสเปรี้ยว แก้หวัด แก้ไข้ทับระดู และขับฟอกโลหิต 

           ผล รสเปรี้ยว ล้างเสมหะ แก้สอเสมหะ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต แก้ไอ แก้ประจำเดือนพิการ 

           ทั้งห้า กัดเสมหะ ฟอกโลหิตประจำเดือน แก้กระษัย แก้ไข้หวัด



       การนำไปปรุงเป็นยารับประทานส่วนมากนิยมใช้วิธีการต้ม ถ้าต้มตามหลักการแพทย์แผนไทยคือต้ม 3 เอา 1 โดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน แล้วเอายานั้นมาผสมกับน้ำอุ่นรับประทานใช้แก้เสมหะ แก้กระษัย ขับฟอกโลหิตประจำเดือนได้ เป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่ข้อควรระวังคือผู้ที่มีภาวะโลหิตจางไม่ควรรับประทานพวกยาและอาหารที่มีรสเปรี้ยว เพราะจะยิ่งไปกัดฟอกโลหิตมากขึ้นจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้



    
    วิธีง่าย ๆ ที่คนทั่วไปนิยมทำคือการนำมะดันมาทำน้ำหมักชีวภาพแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ บ้างก็ใช้เป็นหัวเชื้อปรุงในเครื่องดื่ม บ้างก็นำไปทำโทนเนอร์ใช้เช็ดหน้า ซึ่งการหมักน้ำหมักถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำกันทั่วไป แต่ที่สำคัญต้องเน้นที่ความสะอาดและการคัดเลือกวัตถุดิบที่สะอาดจริง ๆ น้ำหมักที่ได้จึงมีประสิทธิภาพตามที่เราต้องการ
    
   





       การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรจะกว้างขวางแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัญญาและความรู้ที่นำไปใช้ เช่นเดียวกับมะดันถ้ามีการพลิกแพลงนำไปใช้เป็นยา อาหาร เครื่องสำอาง ได้อย่างเหมาะสม ก็เป็นการส่งเสริมการใช้อย่างเกิดประโยชน์ ไม่เช่นนั้นต้นมะดันอาจหายไปตามกาลเวลาก็เป็นได้ 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม