ไข้เลือดออกภัยใกล้ตัว


     ไข้เลือดออก  เป็นโรคที่เกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค ไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และมักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ขวบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงตัวร้าย 






 อาการของ ไข้เลือดออก

      อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็น โรค ไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ 

      1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน 

          2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว 

          3. ตับโต 

          4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก  :  มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ 





ลักษณะตุ่มไข้เลือดออก

       ตุ่มโรคไข้เลือดออกจะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัด แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน

แนวทางการรักษาโรค ไข้เลือดออก

      โรคไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 

          1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร 

          2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออก มักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือมีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด 

          3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 

          4. ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย 






ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม