โรคตากุ้งยิงคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด
โรคตากุ้งยิง (Stye หรือ hordeolum) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง บางรายอาจจะเกิดจากการอุดตันของต่อมบริเวณเปลือกตา ไม่ได้เกิดจากการแอบดู หรือการถ้ำมองสาว ๆ ดังที่เป็นคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด
การเกิดตากุ้งยิงนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย เกิดจากการอักเสบของหนังตา ซึ่งอาจเกิดจากการ อักเสบของต่อมไขมันบริเวณฐานของขนตาใต้เปลือกตา โดยมีอาการบวมแดงร้อน หรือมีอาการปวด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตา ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดด้วยยาหยอดตา หรือป้ายขี้ผึ้งใต้ตา หรือแม้แต่การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
สาเหตุที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตากุ้งยิงนั้น เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณโคนขนตาอุดตัน แล้วทำให้มีเชื้อโรคแทรกซ้อนเข้าไป ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากภูมิต้านทานของร่างกายลดน้อยลง พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือออกกำลังกายน้อย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานต่ำลง ทำให้ร่างกายอ่อนแอ รวมไปถึงคนที่ใช้สายตามาก หรือคนที่มีสายตาผิดปกติแล้วไม่ได้รับการแก้ไข ในบางรายอาจจะเกิดจากการขยี้ตาบ่อยจนเกินไป แล้วทำให้เปลือกตาไม่สะอาด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หรือเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง แล้วล้างออกไม่หมด หรือล้างไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค หรือแม้แต่การใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สามารถก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ ตากุ้งยิงนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อหนอง Staphylococcus aureus ในบางรายที่เป็นโรคตากุ้งยิงแล้วไม่ทำการรักษา หนองอาจจะหายเองได้ หรืออาจจะแตกออก หรืออาจจะทำให้เกิดเป็นก้อนขนาดใหญ่รบกวนการมองเห็น
วิธีการรักษาตากุ้งยิง
เมื่อมีอาการของตากุ้งยิง ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ให้เร็ว เพราะในระยะเริ่มแรกนั้นอาการของโรคจะยังไม่เป็นตากุ้งยิง จะมีลักษณะเป็นแบบเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง ถ้าหากใช้ยาได้ทันท่วงที มีข้อแนะนำว่าให้ใช้น้ำอุ่นประคบจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวเป็นฝี ซึ่งตากุ้งยิงนั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาเท่านั้น และการใช้ยานั้นไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
การรักษานั้น ควรเข้ารับการตรวจตา และสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะหยอดตาป้ายตา และในบางรายแพทย์อาจต้องสั่งยาปฏิชีวนะแบบรับประทานร่วมด้วย แต่ในบางราย หากเป็นฝีเป็นตุ่มขึ้นมา ก็จำเป็นต้องมีการรักษาโดยการผ่าฝีและขูดบริเวณนั้นออกให้สะอาดจริง ๆ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้าหนองยังออกไม่หมด หรืออาการอักเสบยังไม่หายดี สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นตากุ้งยิงนั้นได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
ผลข้างเคียง
โรคตากุ้งยิงนั้น ถือเป็นโรคที่นับว่าสามารถหายเองได้ หากมีการรักษาความสะอาดที่ดี ร่วมกับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ ก็จะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในผู้ป่วยบางรายนั้นมีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก หรือไม่มีการรักษาความสะอาดของใบหน้า จึงอาจทำให้เกิดการอักเสบและลุกลามไปทั่วหนังตาได้ และในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อลึกเข้าไปในเบ้าตา ซึ่งในบางคนอาจเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดกันเลยทีเดียว และโรคอาจลุกลามเข้าไปถึงบริเวณด้านหลังของลูกตา ลามไปถึงสมอง ถ้าปล่อยไว้ถึงระยะนี้การอักเสบจะรุนแรงมากจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น