5 วิธีปฐมพยาบาลบาดแผลจาก “ระเบิด-ดอกไม้ไฟ-พลุ-ประทัด”



    ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุในพื้นที่อันตราย เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ มีการใช้ระเบิดต่างๆ หรือเป็นงานเทศกาลอย่างตรุษจีนที่มีการจุดประทัด เทศกาลลอยกระทงที่ใช้ดอกไม้ไฟ หรือจุดพลุ เหตุการณ์เหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายจนได้รับบาดแผลจากระเบิด ดอกไม้ไฟ พลุ หรือประทัดได้ ซึ่งต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที เพื่อลดการติดเชื้อ และรักษาได้ง่ายขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลบาดแผลจาก “ระเบิด-ดอกไม้ไฟ-พลุ-ประทัด”

  1. ห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แล้วพันบริเวณเหนือแผลให้แน่นป้องกันเลือดออก ควรเป็นผ้าแผ่นกว้างๆ เช่น ผ้ายืด ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้
  2. สังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเสียเลือดมากให้นอนพัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหารทางปาก จิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน การเก็บรักษาส่วนที่ขาด
  3. เอาสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ในกระติกน้ำแข็ง ถุงพลาสติกใหญ่ใส่น้ำแข็ง (อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส)
  4. รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด อวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. เพราะกล้ามเนื้อจะตาย ถ้าทิ้งไว้นานเกิน บริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ยังสามารถต่อได้
  5. ถ้านำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 2-3 ชม. สามารถรับนำส่งได้เลย ทางโรงพยาบาลสามารถจะเตรียมเก็บส่วนที่ขาด เพื่อทำการต่อได้

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา

  อวัยวะส่วนที่ขาด ต้องยังมีเส้นเลือด และเนื้อเยื่อไม่ช้ำมาก เช่น ถูกมีดฟัน ถูกเครื่องตัด และการเก็บอวัยวะที่ขาด หากเป็นนิ้วให้เก็บที่ 4 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 12-18 ชม. ส่วนของแขน ขา ไม่เกิน 6 ชม. ส่วนของมือ ไม่เกิน 12 ชม. ถ้าไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง ต้องรีบนำส่ง รพ. ภายใน 2-3 ชม.

ข้อห้ามในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา ที่อาจไม่สามารถผ่าตัดต่ออวัยวะได้

  1. หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เป็นต้น
  2. ส่วนของเนื้อเยื่อช้ำมาก เช่น ถูกเครื่องบด ถูกเครื่องปั่น รัด ดึง ขาด ถูกทับขาด ถูกระเบิดนิ้ว แขน ขา ขาด
  3. บาดแผล หรือส่วนของอวัยวะที่ขาดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ส่วนที่ขาดตกไปในน้ำครำ หรือถูกสุนัข สัตว์กัดขาด
  4. ส่วนที่ขาดไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง นานเกิน 6 ชม. หรือส่วนแขน ขา แม้เก็บที่ 4 องศา C แต่นานเกิน 6 ชม. การต่ออาจสำเร็จ แต่เสี่ยงต่อกล้ามเนื้อตาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายไหลกลับเข้ากระแสโลหิตเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การพิจารณาการเข้ารับการผ่าตัดนิ้ว 

ผู้ที่สูญเสียนิ้วไปแล้ว ต้องการผ่าตัดแก้ไข พิจารณาความต้องการของคนไข้และการใช้งานของมือที่เหลือ
  • สูญเสียนิ้วหัวแม่มือ สมรรถภาพการทำงานของมือลดลง 40%
การผ่าตัดสร้างนิ้วหัวแม่มือขึ้นมาใหม่ เช่น การย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนนิ้วหัวแม่มือ หรือการสร้างนิ้วหัวแม่มือ โดยต่อกระดูกให้ยาวขึ้น แล้วใช้ส่วนของผิวหนังเล็บจากนิ้วหัวแม่เท้ามาคลุมกระดูกต่อเส้นเลือด เส้นประสาท จะช่วยให้มีนิ้วหัวแม่มือที่มีรูปร่าง และความยาวใกล้เคียงกับนิ้วหัวแม่มือมาก
  • การสูญเสียนิ้วมือทั้ง 4 นิ้ว เหลือนิ้วหัวแม่มือนิ้วเดียว สูญเสียการทำงานของมือ 60%
การผ่าตัดย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนที่นิ้วที่ขาด 1-2 นิ้วจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น
  • การสูญเสียนิ้วเพียงนิ้วเดียว หรือบางข้อ ไม่ช่วยให้การทำงานดีขึ้นมากนัก อาจจะไม่คุ้มค่ากับการผ่าตัดย้ายนิ้ว หรือสร้างนิ้วเพิ่มขึ้น 
เมื่อเกิดเหตุได้รับบาดแผลจนอวัยวะขาด หรือบาดแผลใหญ่จนเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ขณะลงมือปฐมพยาบาลควรรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม