กินหมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยง “โรคไข้หูดับ”



   กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้  เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 274 ราย โดยเกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ป่วยในภาคเหนือ
  นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้บางจังหวัดมีเทศกาลและงานบุญต่างๆ ซึ่งมีการจัดเลี้ยงหรือมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น จึงควรระวังเรื่องการบริโภคหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ  เช่น  ลาบ หลู้ เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้  ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 317 ราย เสียชีวิต 15 ราย  ส่วนในปี 2561 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–19 ตุลาคม 2561 มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 274 ราย เสียชีวิต 26 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาอายุ 45-54 ปี  ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ จำนวน 199 ราย หรือเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสระแก้ว ตามลำดับ

โรคไข้หูดับ คืออะไร

   โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย 

การติดต่อของโรคไข้หูดับ

โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง คือ
  1. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา
  2. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ อาจทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกถาวร และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
 

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หูดับ

   ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ  ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น

วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ

  1. กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์
  2. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง           
   ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง  เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ   ให้รีบพบแพทย์ทันทีและบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม