หัวใจสลาย เพราะอกหัก คุณไม่ได้คิดไปเองหรอกนะ
ทำไมการอกหักถึงทำให้เราเจ็บปวด หากใครเคยผ่านช่วงเวลาที่ความรักไม่ได้ทำให้หัวใจเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว คงเข้าใจว่ามันผิดหวัง หดหู่ เศร้า ขนาดไหน ยิ่งบางครั้งความผิดหวังเข้ามาแทนที่แบบไม่ทันตั้งตัว ยิ่งทำให้เราเสียใจมากไปอีกจนถึงขั้นเหมือน หัวใจสลาย อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกจากหัวใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับร่างกายจริงๆ!! ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Broken heart syndrome หรือ "โรคหัวใจสลาย" ที่อาจทำให้หัวใจถึงกับหยุดเต้นชั่วคราวได้เลย มาลองอ่านรายละเอียดในเรื่องนี้กัน
ทำไมอกหักถึงรู้สึกเจ็บปวด
เมื่อคุณตกหลุมรักใครสักคน สมองจะผลิตสารเคมีต่างๆ อย่างเช่น เฟนิลเลไธลามีน (Phenylethylamine) โดพามีน (dopamine) และเอนดอร์ฟินส์ (Endorphins) ออกมา สารเคมีเหล่านี้ทำให้เรามีความสุข รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว ร่าเริง แต่เมื่อเราอกหัก สมองก็จะสั่งการให้หยุดหลั่งสารพวกนั้นออกมาอย่างเฉียบพลัน ทำให้เรารู้สึกเศร้า ห่อเหี่ยว ไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง เพราะอยู่ๆ สารเคมีในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความไม่สมดุลในร่างกาย นอกจากนี้เมื่ออกหัก ร่างกายจะมีฮอร์โมนคอติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดมากกว่าปกติ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเครียด ความรุนแรงของความรู้สึกก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่สารเคมีที่มีในร่างกาย การเลี้ยงดู หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ บางคนอาจจะใช้เวลาไม่นานในการทำใจ แต่คนที่ไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกได้อาจถึงขั้น เข้าสู่ภาวะ Broken heart syndrome หรือ "โรคหัวใจสลาย" ร้ายแรงที่สุดก็นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า
"โรคหัวใจสลาย" คืออะไร
Broken heart syndrome หรือ โรคหัวใจสลาย เป็นภาวะที่หัวใจหยุดเต้นชั่วคราว ซึ่งเกิดจากการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความเครียดอย่างกะทันหัน เผชิญกับภาวะที่บีบคั้นทางอารมณ์อย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียคนรัก นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากอาการเจ็บป่วยทางกายอย่างรุนแรงได้ด้วย เช่น การผ่าตัดใหญ่ เกิดการบาดเจ็บสาหัส ผู้ที่มีอาการหัวใจสลาย มักมีอาการคล้ายกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจถี่ เหนื่อยหอบ หน้ามืด ในโรคหัวใจสลาย เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลง ซึ่งสาเหตุหรือกลไกที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (Stress hormone) ถูกหลั่งออกมาในระดับที่สูงมากอย่างทันทีทันใด ซึ่งจะมีผลต่อหลอดเลือดหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลงหรือนิ่งไป
ทำอย่างไรให้ผ่านช่วงอกหักไปได้
ระบายเรื่องราวให้คนที่เราไว้ใจฟัง การได้พูดปัญหาที่อยู่ในใจให้คนที่เรารู้สึกสบายใจได้ฟัง ไว้ใจที่จะเล่าให้ฟัง อาจทำให้เราได้เห็นการแก้ปัญหาในมุมมองใหม่ๆ ได้นำเรื่องที่อึดอัดในใจออกไปช่วยให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น
ออกกำลังกาย ช่วงเวลาที่อกหักร่างกายจะสร้างฮอร์โมนที่มีชื่อว่า คอติซอล เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เศร้า และเครียด หากเราได้ออกกำลังกานสักวันละ 30 นาทีต่อวันจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้ฮอร์โมนคอติซอลให้อยู่ในภาวะปกติ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยหลั่ง ฮอร์โมนเอนโดรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มความสุขอีกด้วย
ให้เวลาเยียวยา หากลองทำวิธีอื่นๆ ข้างต้นมาแล้วแต่เรายังไม่รู้สึกดีขึ้น อาจจะต้องใช้เวลาในการเยียวยาความรู้สึก มีงานวิจัยบอกไว้ว่าอารมณ์รักส่งผลต่อสมองเช่นเดียวกับสารเสพติด ความรักทำงานแบบเดียวกับสารเสพติด โดยจะกระตุ้น สารพาโดมีน ซึ่งเป็นสารที่จะทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข เมื่อเราขาดตัวกระตุ้น ซึ่งก็คือคนรัก ก็เหมือนกับเราขาดสารเสพติด อาจจะมีช่วงที่โหยหา อยากได้ความสุข
เราสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ โดยไม่รับรู้เรื่องคนรักเก่า จะช่วยให้ร่างกายที่อยู่ในช่วงพัก ได้ฟื้นฟูความรู้สึกของตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช้าหรือไวก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ the Journal of Positive Psychology ให้ข้อมูลว่า 71% ของวัยรุ่น 155 คนใช้เวลาประมาณ 3 เดือน (ประมาณ 11 สัปดาห์) ในการเห็นแง่ดีของการเลิกรา แต่อย่างไรก็ตามงาน วิจัยนี้เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระยะสั้น หากเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น การหย่าร้าง หรือในคู่รักที่คบกันมาหลายปี ผลการวิจัยพบว่าคู่ที่หย่าร้างจะใช้เวลาเฉลี่ย 18 สัปดาห์กว่าอาการเสียใจจะดีขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น