วิธีปฐมพยาบาล คนที่โดนสาดน้ำกรด-กลืนน้ำกรดเข้าท้อง




วิธีปฐมพยาบาล คนที่โดนสาดน้ำกรด-กลืนน้ำกรดเข้าท้อง

  1. รีบพาผู้ป่วยพบแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากมีตัวอย่างสารพิษที่      ผู้ป่วยโดนสาด หรือดื่มเข้าไป ให้นำไปพร้อมผู้ป่วยด้วย ในกรณีไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหรือไม่สามารถนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ ให้โทร. 1669 (ทั่วประเทศ) เป็นเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ของศูนย์จะประสานงานไปยังศูนย์รถพยาบาลที่ใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อให้การช่วยเหลือ
  2. หากผิวหนังสัมผัสกับสารละลายที่เป็นน้ำ ควรทำความสะอาดด้วยการล้างด้วยน้ำเปล่าให้เร็วที่สุด ยิ่งล้างได้มากเท่าไรยิ่งดี หากเป็นสารที่มาในรูปแบบของแข็ง เช่น ผงล้างห้องน้ำ หรือโลหะบริสุทธิ์ ควรปัดออกจากผิวหนังให้ได้มากที่สุดก่อนล้างด้วยน้ำ เพราะสารพิษที่เป็นของแข็ง อาจทำปฏิกิริยาอื่นๆ กับผิวหนังได้เมื่อสัมผัสกับน้ำ (ส่วนใหญ่ที่โดนๆ กันมักเป็นสารละลาย เป็นของเหลวมากกว่า ดังนั้นการล้างด้วยน้ำเปล่าจึงมีความปลอดภัย)
  3. ในกรณีที่เกิดเหตุในที่พัก สามารถล้างน้ำด้วยการใช้น้ำจากฝักบัวเปิดราดตั้งแต่หัวจรดเท้าได้ โดยให้ฝักบัวอยู่เหนือศีรษะ เงยหน้าขึ้นให้ล้างตาไปด้วย เปิดน้ำเบาๆ ไม่ต้องแรงมาก เพราะหากมีแผลอยู่ เนื้อเยื่อที่โดนแรงดันของน้ำจะยิ่งเสียหาย ล้างน้ำทั้งตัวโดยที่ยังใส่เสื้อผ้า จากนั้นค่อยๆ ถอดเสื้อผ้า หรือตัดผ้าในส่วนที่เปื้อนสารเคมีออกระหว่างที่กำลังล้างตัวอยู่ ควรสวมถุงมือ หรือระมัดระวังในการหยิบจับเสื้อผ้าในส่วนที่เปื้อนสารเคมีด้วย
  4. ควรล้างตัว หรือล้างแผลด้วยน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อย 5-10 นาทีระหว่างรอการมาถึงของรถพยาบาล หากล้างเสร็จแล้วยังมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่แผลอีก ให้ล้างน้ำเปล่าซ้ำ
  5. กรณีที่โดนสาดสารเคมีเข้าที่มือ หากสวมแหวนหรือเครื่องประดับใดๆ อยู่ควรรีบถอดออก เพราะมืออาจจะบวมจนถอดแหวนไม่ได้ หรือแหวนรัดนิ้วเอาได้ รวมถึงสร้อยคอ สร้อยข้อมือ นาฬิกา ต่างหู และอื่นๆ ถ้าเป็นบริเวณที่โดนสาดสารเคมีด้วย
  6. ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ชัก หรือ กินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน หรือทินเนอร์ หรือถ้ายังไม่ทราบชนิดของสารพิษ ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเด็ดขาด มักมีความเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยได้รับยาหรือสารพิษต้องปฐมพยาบาลโดยการทำให้ผู้ป่วยอาเจียน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้
  7. หากผู้ป่วยมีอาการชัก ไม่ควรจับผู้ป่วยนอนหงายแล้วยัดสิ่งของต่างๆ ทั้งช้อน หรือผ้านุ่มๆ ใส่ปากผู้ป่วยเด็ดขาด ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคง หาอะไรมาหนุนที่ศีรษะ ถอดแว่นตา คลายเสื้อหรือกระดุมกางเกงให้ผ่อนคลายลง และไม่ควรยึดยื้อ ดึงรั้ง หรือตรึงแขนขาของผู้ป่วยขณะชัก
  8. เมื่อถึงมือแพทย์ อย่าลืมแจ้งแพทย์ว่าเกิดอะไรขึ้น หากเป็นการทำร้ายด้วยการถูกสาดน้ำกรด หรือถูกจับกรอกปาก จะได้ให้ทางโรงพยาบาลจดบันทึกเอาไว้เพื่อนำไปแจ้งความต่อได้ทันที

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม