นอนไม่หลับ ในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องนอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ทำให้หลับตื้นขึ้น หลับไม่สนิทเหมือนคนวัย หนุ่มสาว ทำให้บางครั้งคิดว่านอนไม่หลับทั้งๆ ที่หลับ แต่หลับตื้นๆ ตื่นง่าย นอกจากนี้ความต้องการของร่างกายที่ต้องการหลับยาวๆ อาจลดลง ให้สังเกตว่ามีอาการง่วงนอนในตอนกลางวันหรือไม่ ถ้าไม่มีก็แสดงว่าน่าจะหลับได้เพียงพอ
- การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่พบได้ คือ ผู้สูงอายุมักง่วงและเข้านอนเร็วกว่าปกติ เช่น เข้านอนตอน 2 ทุ่ม และตื่นเร็วกว่าปกติ เช่นตื่นตอนตี 2 หรือ ตี 3 แล้วไม่หลับอีก
- มีความเครียด คิดกังวลมาก หรือมีอาการซึมเศร้าเบื่อหน่ายก็อาจทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
- ผู้สูงอายุอาจมีความเจ็บป่วยทางร่างกาย ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาในตอนดึก แล้วหลับต่อได้ยาก เช่น ต่อมลูกหมากโตหรือเป็นโรคเบาหวาน ต้องตื่นมาปัสสาวะหลายครั้ง จึงทำให้นอนไม่หลับหรือบางคนมีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก เป็นตะคริว ทำให้ต้องตื่นตอนดึก
- ในบางครั้งอาการนอนไม่หลับนั้น อาจเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้คัดจมูก ยาขยายหลอดลม ยาพาร์คินสัน ยาขับปัสสาวะ ยาไทรอยด์ ยาแก้ชัก ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาสเตียรอยด์ ยารักษาภาวะสมองเสื่อม
- นอกจากนี้การนอนพักผ่อนมากเกินไปในตอนกลางวัน หรือการดื่มชาและกาแฟมาก ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
ก่อนกินยานอนหลับ ลองให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ หากไม่ได้ผลจึงค่อยปรึกษาแพทย์
- อย่าเข้านอนเร็วเกินไป กำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นที่แน่นอน
- มีช่วงเวลาผ่อนคลายร่างกายก่อนเข้านอนประมาณ 20-30 นาที เช่น ฟังเพลงเบาๆ นั่งสมาธิ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในระหว่างวัน และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมในช่วงเย็น
- จัดสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิของห้องให้พอเหมาะ ไม่ให้มีเสียงดังรบกวนและไม่มีแสงจ้าใน ช่วงที่นอน
- ไม่ควรเข้านอนในขณะที่กำลังหิว โดยอาจดื่มนมอุ่นๆ อาหารที่มีทริปโทแฟนสูง เช่นกล้วย หรือกินของว่างก่อนนอนที่มีคาร์โบไฮเดรต จะช่วยให้ง่วงนอนได้ แต่ก็จะทำให้น้ำหนักขึ้นได้เช่นกัน
- ก่อนนอนอย่ากินอาหารอิ่มเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมื้อเย็น
- ก่อนนอนอย่าดื่มน้ำมาก เพราะจะทำให้ต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อยขึ้น ควรจิบเพียงแก้กระหาย หากมียาก่อนนอนอาจปรึกษาแพทย์เพื่อเลื่อนเวลากินยาเป็นเช้าหรือเย็นแทน หากไม่ได้กินยาและจิบน้ำเพียงเล็กน้อย
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับในเวลากลางวัน โดยเฉพาะหลัง 15.00 น.
- ออกไปรับแสงแดดในระหว่างวันและช่วงเย็น หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องมืดๆ ระหว่างวัน
- เข้านอนเมื่อมีอาการง่วง หากยังไม่ง่วงก็ควรอยู่บนเตียง และควรหากิจกรรมอื่นที่ทำให้ง่วงหลับได้
- ควรใช้เตียงสำหรับการนอนหลับเท่านั้น ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นบนเตียง เช่น นอนอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ หากนอนไม่หลับ ให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือสวดมนต์ และเข้านอนเมื่อง่วง
- อาจเปิดเพลงเบาๆ หรือนวดเพื่อผ่อนคลายก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ตื่น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น