กรมควบคุมโรค พยากรณ์ 5 โรคสำคัญ และ 4 ภัยสุขภาพ ที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2559






   กรมควบคุมโรค พยากรณ์ 5 โรคสำคัญ และ 4 ภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2559 คาดว่าไข้เลือดออกจะพบผู้ป่วยถึง 1.6 แสนราย และไข้หวัดใหญ่กว่า 7.2 หมื่นราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พยากรณ์โรคที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2559 มี 5 โรคที่สำคัญ ได้แก่ ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคไข้กาฬหลังแอ่น ส่วนภัยสุขภาพ 4 เรื่อง ได้แก่ ภัยจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ ปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากหมอกควัน และการบาดเจ็บจากการจราจร

   วันนี้ (28 ธันวาคม 2558) ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว เรื่อง “กรมควบคุมโรค สรุปสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญปี 2558 และพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ ปี 2559”
กล่าวว่า ในปี 2558 มีเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไทย ดังนี้ 1.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส ที่เกิดการระบาดขึ้นในเกาหลีใต้ และประเทศไทยก็พบผู้ป่วย 1 ราย 2.ปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนีในพื้นที่ภาคใต้ของไทย 3.โรคไข้เลือดออก ซึ่งพบผู้ป่วยสูงถึง 129,000 ราย 4.การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงต้นปี ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.ปัญหาการบาดเจ็บจากการจราจร โดยมีผู้เสียชีวิต 341 รายในช่วงเทศกาลปีใหม่ และ 364 รายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ 6.เหตุการณ์ในต่างประเทศ ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในภูมิภาคอาฟริกาตะวันตก  ไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน และการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา (time series analysis) เพื่อวิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2559 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ โดยการพยากรณ์โรคติดต่อ มี 5 โรคสำคัญ ดังนี้
 1.โรคไข้เลือดออก ผลการวิเคราะห์คาดว่าปี 2559 จะมีผู้ป่วยประมาณ 166,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วย 5,000-7,500 รายต่อเดือน และสูงขึ้นในฤดูฝนช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. อาจมากกว่า 25,000 รายต่อเดือน อำเภอที่เสี่ยงต่อการระบาดสูงทั้งสิ้น 228 อำเภอ ใน 56 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภาค โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งชุมชน ซึ่งมีปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการสุขอนามัยส่วนบุคคล
 2.อหิวาตกโรค ในปี 2558 (1 ม.ค.-30 พ.ย. 58) พบผู้ป่วย 166 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยพบผู้ป่วยใน 13 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลและจังหวัดชายแดน ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะยังพบผู้ป่วยอหิวาตกโรคต่อเนื่องโดยแบ่งความเสี่ยงเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดที่พบการเกิดโรคต่อเนื่อง คือ สงขลา ตาก และระยอง 2) จังหวัดเสี่ยงสูง คือจังหวัดชายแดนไทย-ตอนกลาง และตอนล่างของพม่า, จังหวัดชายฝั่งทะเล และจังหวัดใหญ่ที่เป็นจุดกระจายอาหารทะเล 3) จังหวัดอื่นๆ อาจเกิดโรคได้ หากประชาชนยังรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
 3.โรคไข้หวัดใหญ่ ในปี 2558 (1 ม.ค.-8 ธ.ค. 58) พบผู้ป่วย 69,798 ราย เสียชีวิต 37 ราย ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 72,000 ราย ซึ่งจะมีผู้ป่วย 5,000-8,000 รายต่อเดือนในช่วงฤดูหนาว ม.ค.-มี.ค. และปลายฝนต้นหนาว ส.ค.-พ.ย.) มี 9 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาด ได้แก่ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา จันทบุรี ระยอง ตราด และภูเก็ต
 4.โรคมือ เท้า ปาก ในปี 2558 (1 ม.ค.-8 ธ.ค. 58) พบผู้ป่วย 37,330 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 70,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน(มิ.ย.-ก.ค.) อาจพบผู้ป่วยมากกว่า 10,000 รายต่อเดือน และ
 5.โรคไข้กาฬหลังแอ่น ในปี 2558 (1 ม.ค.-8 ธ.ค. 58) พบผู้ป่วย 28 ราย เสียชีวิต 12 ราย ซึ่งเป็นปีที่มี ผู้ป่วยมากสุดในรอบ 5 ปี แยกเป็น คนไทย 24 ราย พม่า 3 ราย และกัมพูชา 1 ราย ส่วนในปี 2559 จากการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค มี 15 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สระแก้ว ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สงขลา กระบี่ ปัตตานี และยะลา
 1.ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยตั้งแต่ปี 2551-2558 พบผู้ป่วยหมดสติขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส รวม 13 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 23 ราย เสียชีวิต 6 ราย ส่วนในปี 2559 คาดว่าในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นเทศกาลท่องเที่ยวของทุกปี (ม.ค.-ก.พ. 59) ประชาชนต้องระมัดระวังและเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดภัยดังกล่าว
 2.เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2552-2557 มีแนวโน้มลดลงจาก 1,207 ราย เหลือ 812 ราย จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงคือจังหวัดที่มีคนจมน้ำเสียชีวิต 20 รายขึ้นไปต่อปี มีจำนวน 40 จังหวัด แม้ว่าการจมน้ำเสียชีวิตในเด็กจะมีแนวโน้มลดลง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2559 ก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะฤดูร้อนที่เป็นช่วงปิดเทอม(มี.ค.-พ.ค.) จะมีเด็กตกน้ำ จมน้ำสูงที่สุดในรอบปีของทุกปี และประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการเกิดเหตุการณ์ที่แหล่งน้ำธรรมชาติ
 3.การเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควัน ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2556-2557 พบว่าอัตราตายด้วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน (เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา และแพร่) มีแนวโน้มสูงในเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งในภาคเหนืออากาศจะหนาวเย็นและมีหมอกควันหนาขึ้น อาจทำให้โรคดังกล่าวมีอาการกำเริบรุนแรงได้ และในปี 2559 ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว และ
 4.การบาดเจ็บจากจราจร ซึ่งพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์มีแนวโน้มคล้ายคลึงกัน คือช่วงปี 2549-2553 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลง แต่หลังจากปี 2553 จำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มคงที่ประมาณ 321–366 รายในช่วงเทศกาลปีใหม่ และประมาณ 271–364 รายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และในปี 2559 ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 268–372 ราย และคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 308–387 ราย

ความคิดเห็น