โดน งูเขียวหางไหม้กัด ต้องทำอย่างไร? มาหาคำตอบ








 งูเขียวหางไหม้ เป็นงูที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีพิษต่อระบบโลหิต โดยจะแสดงอาการได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาการเฉพาะที่ (Local Symptom) และอาการทั่วไป (Systemic Symptom)

   1. อาการเฉพาะที่ : ปวดบวมชัดเจน ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก อาจพบผิวหนังพองเป็นถุงน้ำ (blister) หรือมีเลือดออกภายในถุง (hemorrhagic bleb) ก็ได้ รอยเขียวช้ำของผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด (ecchymosis) หรือมีเลือดซึมออกจากแผลรอยเขี้ยว บางรายอาจพบเนื้อตายร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่ถูกงูเขียวหางไหม้กัด บางรายอาจพบการอักเสบของท่อน้ำเหลือง (lymphangitis) หรือการอักเสบของหลอดเลือด (thrombophlebitis) ร่วมได้
   2. อาการทั่วไป : เลือดออกผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ได้แก่ เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกตามรอยแผลเขี้ยวที่ถูกกัดและรอยเขียวช้ำ อาจมีเลือดออกในกล้ามเนื้อ อาเจียนเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น

ลักษณะอาการบวมเฉพาะที่

  – ได้รับพิษน้อย : บริเวณที่ถูกกัดจะมีอาการบวม แดง หรือมีเลือดออก บริเวณที่ถูกกัด จะไม่มีอาการทางระบบไหลเวียนเลือด ผลการตรวจเลือดปกติ
  – ได้รับพิษปานกลาง : จะมีอาการบวม แดง และมีเลือดออกเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นแผลใหญ่ ลามไปมากกว่าการได้รับพิษน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันอาจจะต่ำเล็กน้อย แต่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต
  – ได้รับพิษมาก : มีอาการบวม แดง และเลือดออกทั้งอวัยวะส่วนนั้น เช่น แขนและขา ผู้ป่วยอาจจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ หายใจเร็ว นอกจากนี้ยังไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด รวมถึงปัสสาวะเป็นเลือด

ประเภทของงูพิษ

  1. งูพิษต่อระบบประสาท ตัวอย่างเช่น งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม และงูทะเล สำหรับกลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือ “งูเห่า” โดยจะทำให้ผู้ถูกกัดมีอาการ ภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ ตาพร่ามัว หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ หายใจไม่สะดวก และอาจจะหยุดหายใจ จนทำให้เสียชีวิต
  2. พิษต่อโลหิต ตัวอย่างเช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ และงูกะปะ ที่พบมากโดยเฉพาะในเขตตัวเมือง คือ “งูเขียวหางไหม้” เมื่อถูกกัดได้รับพิษปริมาณน้อย จะมีอาการปวดหรือบวมบริเวณที่ถูกกัดเท่านั้น แต่ถ้าได้รับพิษปริมาณมาก จะทำให้เลือดออกไม่หยุดตามที่ต่างๆ ในรายที่อาการรุนแรงมาก จะไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด และปัสสาวะเป็นเลือด



การป้องกันการถูกงูกัด


  1. ควรรักษาบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่รกจากเศษอาหาร เนื่องจากเมื่อมีหนูเข้ามาอาศัย จะดึงดูดงูให้เข้ามาหากินหนูในบ้านด้วย
  2. ในเวลาพลบค่ำ ไม่ควรเดินหรือทำงานในที่พงหญ้า พุ่มไม้ ทุ่งนา หรือที่รกๆ เนื่องจากจะเป็นเวลาหากินของงูในเวลากลางคืน
  3. การนั่งเล่นในพื้นดินที่รกๆ หรือขนย้ายกองวัสดุ ต้องระมัดระวัง เพราะงูอาจหลบอยู่ข้างใต้
  4. ไม่ควรใช้มือหรือเท้า แหย่เข้าไปในโพรงไม้หรือโพรงดิน และไม่ควรล้วงจับหนู เพราะงูชอบหลบซ่อนอยู่
  5. การเดินทางในป่า ควรสวมเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหนา เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ต และถือไม้ยาว ไว้คอยไล่งูที่อาจจะซุกซ่อนตามทางเดิน
  6. หากบังเอิญเจองู ควรหลีกไปทันที ถ้ากระชั้นชิด ควรยืนนิ่งๆ แล้วถอยออกมา มาช้าๆ เพราะงูจะไม่ทำร้ายคนก่อน แต่จะกัดเพื่อป้องกันตัว

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อถูกงูกัด


  1. ควรดูให้แน่ใจว่างูที่กัดเป็นงูอะไร พยายามจดจำ สี รูปร่าง ลักษณะศีรษะ ถ้าเป็นไปได้ ควรนำเอาตัวงู มาให้แพทย์ดูด้วย เพราะจะได้ทำการรักษาให้ตรงกับชนิดของงู (แต่ไม่ควรเสียเวลาตามงู)
  2. ใช้เชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกกัดเล็กน้อย ไม่ควรรัดแน่น เนื่องจากจะทำให้เนื้อบริเวณนั้นขาดเลือด และในบางส่วน เช่น นิ้ว ไม่ควรรัดบริเวณนิ้ว แต่ควรรัดบริเวณส่วนข้อมือ หรือข้อเท้าแทน ทั้งนี้ควรมีการคลายที่รัดๆ ทุก 15 นาที
  3. ควรให้บริเวณที่ถูกกัด มีการขยับน้อยที่สุด หรือเป็นไปได้ควรยึดติดกับอุปกรณ์ที่ป้องกันการขยับ
  4. ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผล ไม่ควรใส่ยาสมุนไพร เพราะจะทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นได้
  5. ไม่ควรให้ดื่มสุรา หรือยาที่มีสุราเจือปน
  6. อย่าใช้ปากดูด หรือกรีดแผล หรือรีดแผล รวมถึงการใช้ไฟฟ้าจี้ เนื่องจากจะทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
  7. รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ควรรักษาเอง หรือทานยาเอง
  8. ระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล คอยสังเกตอาการที่ผิดปกติ เพื่อจะได้บอกแพทย์ได้อย่างถูกต้อง

การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกงูกัด


  1. เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจสอบบาดแผล และดูรอยเขี้ยวงู ว่าเป็นงูพิษหรือไม่ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง
  2. แพทย์จะทำการซักประวัติ และชนิดของงูที่กัด ตรวจเลือดตามข้อบ่งชี้
  3. ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ต้องให้การรักษาแพทย์ แพทย์จะให้เซรุ่ม ต้านพิษงู ซึ่งคุณอาจจะมีอาการแพ้ได้
  4. หากคุณไม่มีอาการอะไร หลังจากดูอาการภายใน 1-2 ชั่วโมง แพทย์จะให้กลับบ้านได้ แต่คุณจะต้องสังเกตอาการของคุณ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาล
  5. เมื่อท่านมีอาการผิดปกติ ควรรีบพามาตรวจซ้ำ

วิธีดูแลตัวเอง


  1. นอนพัก เคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกกัดให้นอนที่สุด การยกแขนหรือขาให้สูงขึ้นจะทำให้อาการบวมยุบลงเร็วและปวดน้อยลง
  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่มีอาการบวมมาก
  3. หากผิวหนักพองเป็นถุงน้ำ ไม่ควรดูดน้ำ เจาะถุงน้ำ หรือตัดเอาผิวหนังออกเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เราติดเชื้อได้ง่าย ยกเว้นถุงน้ำมีขนาดใหญ่ ปวดมาก หรืออาจกดทับทำให้ขาดเลือด เช่น ปลายนิ้ว ควรแก้ไขให้ VCT ปกติเสียก่อน หลังจากนั้นจึงใช้เข็มเบอร์ 22-24 G ดูดเอาน้ำในถึงน้ำออก
  4. หากปวดมาก สามารถกินยาพาราเซตามอลได้ แต่ห้ามกินแอสไพรินเด็ดขาด
  5. การรักษาตามอาการและประคับประคองอาการอื่นๆ ตามความจำเป็น

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม