ไส้กรอก แฮม โบโลน่า กินมาก ๆ เสี่ยงมะเร็ง





    อันตรายจากการกินไส้กรอก แฮม โบโลน่า พบว่ามีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกินค่ามาตรฐาน กินเยอะไปไม่ดีแน่

          ไส้กรอก แฮม โบโลน่า แค่นึกถึงหลายคนก็น้ำลายสอแล้วจริงไหมคะ จึงไม่น่าแปลกใจหรอกที่อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม และโบโลน่าจะเป็นเมนูยอดฮิตของคนยุคนี้ โดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่นและเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ที่ชอบความสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่หากกินไส้กรอก แฮม โบโลน่าเยอะเกินไป รู้ไหมว่ามีอันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยเลย

          เห็นกระแสในโลกโซเชียลที่แชร์ว่า ไส้กรอก แฮม และโบโลน่า กินเยอะแล้วอันตรายต่อสุขภาพ หลายคนเลยข้องใจว่าอาหารอร่อย ๆ เหล่านี้จะมีอันตรายอะไรแฝงอยู่นักหนา ซึ่งก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า ไส้กรอก แฮม และโบโลน่าต่างเป็นอาหารแปรรูปประเภทเนื้อหมัก (cured meat products) การยืดอายุของอาหารเหล่านี้ให้อยู่ได้นานและยังดูสดใหม่น่ากินเสมอจึงต้องอาศัยวัตถุกันเสียอย่างสารโซเดียมไนไตรท์ ซึ่งเจ้าสารตัวนี้นี่ล่ะที่ให้โทษต่อสุขภาพอย่างจัง

   โดยจากการศึกษาด้านความเป็นพิษของไนไตรท์ต่อสัตว์ทดลองพบว่า หนูที่ถูกป้อนน้ำและอาหารที่มีปริมาณไนไตรท์สูงราว 250-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสูงขึ้น อีกทั้งการทำปฏิกิริยาของไนไตรท์กับกรดในกระเพาะอาหารอาจเปลี่ยนสารไนไตรท์ให้กลายเป็นกรดไนตรัส ซึ่งสามารถรวมตัวกับสารเอมีนหรือเอมีตที่มีในอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ จนเกิดสารก่อมะเร็งกลุ่มไตรซามีนขึ้นในร่างกาย โดยสารก่อมะเร็งชนิดนี้มันจี๊ดตรงที่ง่ายต่อการดูดซึมผ่านผนังลำไส้ ดังนั้นการศึกษาทางระบาดวิทยาจึงชี้ให้เห็นว่า หากร่างกายได้รับสารไนไตรท์ในปริมาณที่สูง​ โอกาสเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งหลอดอาหารก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

           และสำหรับผู้ที่ได้รับสารไนไตรท์ในปริมาณที่สูงมากโดยฉับพลัน สารไนไตรท์จะจับตัวกับฮีโมโกลบินในเลือด จนเลือดเกิดเป็นเมทฮีโมโกลบิน (methaemoglobin) คราวนี้ร่างกายก็จะขาดฮีโมโกลบินที่จะไปจับกับออกซิเจน ก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเลือด มีอาการตัวเขียว เล็บเขียว หอบ เหนื่อย หัวใจเต้นแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ร่วมกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในเบื้องต้น 

  ทั้งนี้จากข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ถ้าคำนวณเทียบกับน้ำหนักตัวเฉลี่ยของวัยรุ่นอายุ 9-18 ปี โดยคิดน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 44.5 กิโลกรัม และผู้ใหญ่วัย 19 ปีขึ้นไป ค่าน้ำหนักเฉลี่ยที่ 54.5 กิโลกรัม จะพบว่า ปริมาณไนไตรท์ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในการบริโภคหนึ่งครั้ง คือ 1,424 และ 1,744 มิลลิกรัม ตามลำดับ

          อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้เราทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดค่ามาตรฐานของสารไนไตรท์ในอาหารให้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่จากการตรวจสอบในปี 2555 พบว่าอาหารเหล่านี้เกินค่าที่กำหนดเยอะมาก

    และแม้ล่าสุด ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สุ่มวัดตัวอย่างไส้กรอก แฮม และโบโลน่าเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2558 แล้วพบว่า อาหารแปรรูปเหล่านี้มีไนไตรท์ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ แต่ก็อย่าชะล่าใจไปว่ากินแล้วจะปลอดภัยต่อสุขภาพนะคะ เพราะยังไงไส้กรอก แฮม และโบโลน่าก็ยังคงมีไนไตรท์แอบแฝงอยู่

          ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ควรจำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปเหล่านี้ไม่ให้เกิน 50-100 กรัม และไม่ควรรับประทานในปริมาณมากต่อครั้ง รวมถึงพยายามอย่ากินไส้กรอก แฮม โบโลน่า บ่อยครั้งในแต่ละวัน เพราะอาจเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับสารไนไตรท์ปริมาณสูงเกินค่าความปลอดภัยได้  และแม้ล่าสุด ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สุ่มวัดตัวอย่างไส้กรอก แฮม และโบโลน่าเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2558 แล้วพบว่า อาหารแปรรูปเหล่านี้มีไนไตรท์ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ แต่ก็อย่าชะล่าใจไปว่ากินแล้วจะปลอดภัยต่อสุขภาพนะคะ เพราะยังไงไส้กรอก แฮม และโบโลน่าก็ยังคงมีไนไตรท์แอบแฝงอยู่

          ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ควรจำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปเหล่านี้ไม่ให้เกิน 50-100 กรัม และไม่ควรรับประทานในปริมาณมากต่อครั้ง รวมถึงพยายามอย่ากินไส้กรอก แฮม โบโลน่า บ่อยครั้งในแต่ละวัน เพราะอาจเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับสารไนไตรท์ปริมาณสูงเกินค่าความปลอดภัยได้

ความคิดเห็น