โรคพาร์กินสัน โรคทางสมอง ทำลายการทรงตัวผู้สูงอายุให้เสียสมดุล





  โรคพาร์กินสัน ถือเป็นที่อีกหนึ่งภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด และมีการสั่นของมือและขา ซึ่งโรคพาร์กินสันเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของเซลล์สมองที่คอยควบคุมเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดจากโรคนี้ได้ แต่ก็สามารถใช้การรับประทานยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติมากขึ้น
   ดังนั้น ก่อนที่โรคพาร์กินสันจะเกิดขึ้นกับตัวเราหรือญาติ ผู้สูงอายุ เราควรทำความรู้จักกับโรคพาร์กินสันให้มากยิ่งขึ้นดังนี้

โรคพาร์กินสัน คืออะไร

   โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือ โรคสันนิบาต คือโรคที่เกิดขึ้นทางสมองโดยเกิดจากเซลล์ประสาท ที่อยู่ในบางตำแหน่งมีการเสื่อมสภาพหรือตายลงอย่างไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ส่งผลทำให้สารสื่อประสาทภายในสมองที่เรียกว่า โดปามีน มีปริมาณลดน้อยลง  เมื่อสารดังกล่าวลดลงผู้ป่วยจะมีอาการสำคัญคือ เกิดอาการสั่นในขณะช่วงของการพัก เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง มีอาการแข็งแรงตามสภาพร่างกาย และการทรงตัวเสียสมดุล เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรค

   โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมเซลล์สมองในส่วนของก้านสมองที่ทำหน้าที่สร้างสารโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นเซลล์ที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคุมเรื่องการทรงตัว ซึ่งเมื่อเซลล์ดังกล่าวเสื่อมสภาพหรือลดลง จึงส่งผลให้ร่างกายของเราเกิดอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้แก่ อาการสั่น เคลื่อนไหวช้าลง บางครั้งก็อาจมีอาการแข็งเกร็ง ซึ่งอาการทั้งหมดส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย มีปัญหาในการเดินและทรงตัว

ปัจจัยสำคัญที่เป็นผลให้เกิดโรคพาร์กินสัน

 ปัจจัยสำคัญที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสัน มีอยู่ 3 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
  1.อายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เนื่องจากอาการของโรคพาร์กินสันเป็นอาการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ในสมองที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่สุขภาพถดถอยลงตามวัย
  2.เกิดจากพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติของการป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน โดยเฉพาะญาติใกล้ชิด เช่น พี่น้อง
  3.ปัจจัยร่วมนั่น คือ ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดการเสื่อมของเนื้อเยื่อในระบบประสาทเช่น การได้รับสารพิษรุนแรงเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานั้น ตัวอย่างเช่น            ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก  เกษตรกรที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่ใช้ยาเสพติดที่มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท

อาการของโรคพาร์กินสัน

  อย่างที่ทราบกันแล้วว่าโรคพาร์กินสันมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยไปทำลายระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งให้อาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักแสดงออกให้เห็นได้จากพฤติกรรม และลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ดังนี้
  1.มีอาการสั่นแม้ขณะอยู่เฉย ซึ่งอาการสั่นถือเป็นอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เพราะเป็นอาการที่สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุด โดยอาการจะเริ่มจากด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย และมักจะเริ่มที่มือหรือปลายนิ้ว
 2.อาการเคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการเคลื่อนไหวช้าลงกว่าปกติ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกาย ในระยะแรกของการเกิดอาการผู้ป่วยจะมีอาการสั่นที่เป็นผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเชื่องช้า ซึ่งอาจเกิดเพียงด้านในด้านหนึ่งของร่างกาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี อาการเคลื่อนไหวช้าอาจะมีความรุนแรงขึ้นจากด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจจะเพิ่มมาจนถึงบริเวณกลางลำตัว อาการที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน คือ การเดิน โดยขณะเดินจะซอยเท้าถี่ ก้าวที่ก้าวออกไปสั้น เมื่อสามารถเริ่มก้าวเท้าออกได้ ผู้ป่วยเดินซอยถี่ลำตัวโน้มเอียงไปข้างหน้า การเดินย่ำเท้าอยู่กับที่เหมือนกับเท้าติดอยู่กับพื้นและแก่วงแขนน้อยเวลาเดิน
3.อาการแข็งเกร็ง มักมีอาการแข็งตึงของกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัว ทำให้เคลื่อนไวหลำบาก รู้สึกปวดตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักจะเริ่มที่แขนหรือขาด้านเดียวกับด้านที่มีอาการสั่นซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดยอาการนี้อาจจะสังเกตได้ยาก
4.ปัญหาของการทรงตัวไม่สม่ำเสมอ เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอาการป่วยมาระยะหนึ่ง โดยลักษณะของอาการผู้ป่วย จะมีความผิดปกติในปฏิกิริยาการตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับท่าทางและการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยอาจล้มลงขณะเคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ นอกเหนือจากระบบการเคลื่อนไหวของร่างกายแทรกซ้อนได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดจากการด้อยประสิทธิภาพลงในการนอนหลับ ส่งผลต่อระบบการทำงานของระบบประสาท ภาวะอารมณ์ และความสามารถในการคิดตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า อาการหลงลืม เห็นภาพหลอน พูดคุยเสียงเบาหรือรัว รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย และประสาทสัมผัสอย่างกานดมกลิ่นและรับรสชาติอาหารด้อยประสิทธิภาพลง

การวินิจฉัยโรค

  การวินิจฉัยของแพทย์จะใช้วิธีซักประวัติและการตรวจร่างกายที่ละเอียด โดยการตรวจร่างกายจะประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การวินิจฉัยอาการพาร์กินโซนิซึ่ม
  อาการพาร์กินสัน มักจะเริ่มขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากนั้นอาการมักจะเป็นทั้งสองข้าง ร่วมกับมีปัญหาของการทรงตัวในภายหลัง
โดยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการพาร์กินโซนิซึ่ม ประกอบด้วยอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 อาการดังต่อไปนี้
1.อาการเคลื่อนไหวช้า ถือเป็นอาการหลักที่ต้องเกิดในผู้ป่วยพาร์กินโซนิซึ่มทุกราย
2.อาการสั่นขณะอยู่เฉย มักเกิดขึ้นที่มือโดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้ว แต่ก็สามารถพบอาการที่ขาได้เช่นกัน
3.อาการแข็งเกร็ง มักเกิดขึ้นบริเวณร่างกายข้างเดียวกับที่ผู้ป่วยมีอาการสั่นและเคลื่อนไหวช้า
4.ปัญหาในเรื่องการทรงตัว ซึ่งอาการอาจจะไม่เด่นชัดในช่วง 2-3 ปีแรก
ขั้นตอนที่ 2 คัดแยกโรคอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสันจากการซักประวัติ
 แพทย์ผู้รักษาจะซักถามผู้ป่วยถึงอาการข้างต้น ถ้าพบประวัติในลักษณะดังต่อไปนี้ อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากโรคพาร์กินสัน เช่น อาการหลอดเลือดสมองผิดปกติหลายครั้ง เคยเกิดอุบัติเหตุกระทบเทือนที่สมองหลายครั้ง ได้รับยาทางจิตเวชหรือยาต้านโดปามีน ป่วยเป็นโรคสมองอักเสบ มีอาการทางระบบประสาทอื่นที่ไม่พบในโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 ลักษณะอาการที่สนับสนุนของโรคพาร์กินสัน
  แพทย์ผู้ทำการรักษา จะวิเคราะห์หาอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นอาการที่สนับสนุนว่าเป็นโรคพาร์กินสันที่แน่นอน หากพบตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป ได้แก่ อาการพาร์กินโซนิซึ่มเริ่มต้นจากข้างใดข้างหนึ่ง แสดงอาการด้วยอาการสั่นขณะเฉย อาการของโรคดำเนินมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่อาการจะคงความไม่สมมาตรกันถึงแม้ว่าอาการพาร์กินโซนิซึ่มแล้วทั้ง 2 ข้าง ตอบสนองต่อยาลีโวโดปาดีมาก (70-100%) มีอาการยุกยิกรุนแรงที่เป็นผลจากยาลีโวโดปา เป็นต้น

วิธีรักษาโรคพาร์กินสัน

  เนื่องจากโรคพาร์กินสันนั้นโดยส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ระบบประสาทในส่วนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า สารโดปามีน หลักการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จึงใช้วิธีให้รับประทานยาที่มีคุณสมบัติทดแทนสารโดปามีน โดยที่ในปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพในการทดแทนโดปามีนหลายชนิดซึ่งมีทั้งยาที่ทดแทนสารโดปามีนโดยตรง และชนิดที่มีประสิทธิภาพในการทำให้สารโดปามีนอยู่ในระบบประสาทนานขึ้น ซึ่งผู้ป่วยโรคพาร์กินสันต้องรับประทานยาตามเวลาทุกวัน ห้ามขาด หรือรอให้เกิดอาการแล้วจึงค่อยรับประทานยา โดยต้องรับประทานตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และต้องคอยสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ หรือมีอาการข้างเคียงจากยาที่รับประทานอย่างไรบ้าง และทำการจดบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป

วิธีป้องกันโรคพาร์กินสัน

  เพราะโรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในสมองที่คอยควบคุมเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกายวิธีที่จะป้องกันการเกิดโรคนี้กับผู้สูงอายุได้ดีที่สุดก็คือ การยับยั้งหรือชะลอการเสื่อมลงของเซลล์ในสมอง ซึ่งก็คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเตรียม เพื่อพร้อมรับมือกับวัยที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้หลักพื้นฐานอย่างการรับประทานที่มีประโยชน์ ออกกำลังสม่ำเสมออย่างเหมาะสมกับวัย พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างการ สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งช่วยลดและป้องกันความเสี่ยงการป่วยจากโรคพาร์กินสันได้เช่นกัน
โรคพาร์กินสัน ไม่ได้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือร้ายแรงแบบโรคอื่นๆ แต่ก็มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเช่นกัน
โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จึงควรมีลูกหลานคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และหากพบความผิดปกติก็ควรพบแพทย์เพื่อจะได้รับมือดูแลให้เท่าทันการณ์

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม