5 อวัยวะในร่างกายที่เสี่ยงต่อ “เชื้อรา” มากที่สุด

   



   อากาศร้อนชื้นในบ้านเราส่งผลต่ออาหารการกินของเราที่มีการบูดเสียเน่าง่ายจนเกิดเป็นเชื้อราขึ้นเป็นดอกๆ บนอาหาร มีทั้งสีขาว สีฟ้า สีเขียว หรือบางครั้งอาจเห็นเป็นสีส้ม ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราที่เกิดขึ้นแต่ละชนิดของอาหาร อย่างไรก็ตาม อากาศร้อนชื้นไม่ได้เป็นสาเหตุของเชื้อราบนอาหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสาเหตุของเชื้อราที่เกิดขึ้นบนอวัยวะในร่างกายของเราอีกด้วย และแน่นอนว่ามาพร้อมอันตรายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดแน่นอน
  1. เชื้อราบนผิวหนัง
    บริเวณที่พบได้ง่ายๆ และบ่อยๆ คือเชื้อราบนผิวหนัง โดยเป็นอาการเริ่มต้น และสาเหตุของโรคอีกมากมาย เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบริเวณที่สามารถเกิดความอับชื้นได้ง่าย เช่น ข้อพับขาบริเวณขาหนีบ รักแร้ ซอกนิ้ว ซอกทวารหนัก ร่องผิวหนังตามชั้นท้อง ชั้นคอ ใต้ราวนม และสะดือของคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน สาเหตุมาจากอากาศที่อับชื้นทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเปียกเหงื่อชื้นตลอดเวลา รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องมีภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องทานยากดภูมิคุ้มกัน หญิงตั้งครรภ์ เป็นโรคเบาหวาน โรคเลือด หรือโรคขาดสารอาหาร นอกจากจะพบเป็นผื่นแดงคันแล้ว หากเป็นแผลติดเชื้อน้ำเหลืองไหล ก็อาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติม แพทย์จะขูดผิวหนังบริเวณที่เป็นเชื้อราไปตรวจ และจัดยาทา หรือยาทานควบคู่กันไปเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
  1. เชื้อราในช่องคลอด
     น่าจะเป็นตำแหน่งที่ผู้หญิงหลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว หรือบางคนอาจจะเคยประสบปัญหานี้มาแล้ว เชื้อราในช่องคลอดเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากอากาศร้อนชื้น ปริมาณไกลโคเจนในสารน้ำในช่องคลอด และการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเป็นเวลานานก็อาจส่งผลให้เกิดเชื้อราในช่องคลอดได้เช่นกัน หากมีอาการคันบริเวณแคมใหญ่ อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดเชื้อราขึ้นที่ผิวหนังบริเวณรอบอวัยวะเพศ หากมีอาการคันในช่องคลอด รวมถึงบริเวณฝีเย็บอาจเป็นเชื้อราที่ทำให้คัน และเจ็บแสบเมื่อมีเพศสัมพันธ์  แพทย์อาจให้การรักษาโดยการให้ยาใช้เฉพาะที่ อาจเป็นยาทา หรือยาเหน็บ และอาจรวมถึงยารับประทานร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เชื้อราในช่องคลอดไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่หากคู่นอนมีอาการร่วมด้วย ก็ควรเข้ารับการรักษาด้วยกัน
  1. เชื้อราที่ปลายอวัยวะเพศชาย
     นอกจากช่องคลอดของผู้หญิงแล้ว ปลายอวัยวะเพศชายก็เสี่ยงต่อการมีเชื้อราเช่นกัน โดยเกิดจากอากาศที่อับชื้น หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศยาว และหนา พบเป็นเม็ดเล็กๆ แดงๆ ที่ปลายอวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อมาจากฝ่ายหญิงที่อาจเป็นเชื้อราในช่องคลอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการคัน แสบ อาจมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรืออาจพบขี้เปียกเยอะผิดปกติ จนแห้งเป็นขุย หากปล่อยให้เกิดเชื้อรานาน  วิธีการรักษาคล้ายกับเชื้อราในช่องคลอด อย่างไรแนะนำให้พบแพทย์ก่อนซื้อยามาทา หรือทานรักษาด้วยตัวเอง เพราะควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัดก่อน
  1. เชื้อราบนหนังศีรษะ
    บนหนังศีรษะของสาวๆ ที่มีผมหนา ผมยาว มีหนังศีรษะมัน รวมถึงผู้ชายที่มีผมหนา และสวมหมวกตลอดเวลา มีโอกาสที่จะพบเชื้อราบนหนังศรีษะได้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้เชื้อรายังสามารถติดต่อกันถึงคนอื่นๆ ได้ หากใช้อุปกรณ์แต่งผมร่วมกัน เช่น หวีผมในร้านทำผม รวมถึงผู้ชาย หรือพระที่ใช้มีดโกนร่วมกัน อาการที่พบจะมีตั้งแต่มีรังแค ผมร่วมเป็นหย่อมๆ คันหนังศีรษะ มีแผลหรือหนองรวมกันเป็นก้อน รวมไปถึงผมหักกลาง และมีจุดดำที่หนังศีรษะ  แพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาโดยการสระผมด้วยแชมพูที่มียาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมไปถึงยาทาน งดใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เป่าผมให้แห้งหลังสระผมก่อนนอน ไม่ผูกผมหากผมยังเปียก อย่าสวมหมวกท่ามกลางอากาศร้อนนานเกินไป รวมไปถึงหมั่นทำความสะอาดหนังศีรษะให้สะอาดอยู่เสมอ
  1. เชื้อราที่เล็บ
    ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับนิ้วเท้าที่อาจเกิดความอับชื้นจากการสวมใส่รองเท้าทั้งวันในอากาศที่ร้อนอบอ้าว สวมรองเท้าคับ ไม่เหมาะสมกับรูปเท้า เหงื่อออกเท้าบ่อยๆ ทำงานที่ต้องเท้าเปียกอยู่ตลอดเวลา ติดเชื้อราจากดิน หรือผู้หญิงที่ทำเล็บบ่อยๆ เช่น การต่อเล็บต่างๆ ก็อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อราที่เล็บได้เช่นกัน หากเล็บมีอาการติดเชื้อรา จะพบว่ามีแถบสีขาว หรือเหลืองข้างๆ เล็บ พบขุยใต้เล็บ พบฝ้าขาว หรือหลุมบนเล็บ อาจจะเป็นโคนเล็บ หรือปลายเล็บ รวมไปถึงสภาพเล็บที่ถูกทำลายจากการติดเชื้อรา แพทย์อาจแนะนำยาทาแก้เชื้อรา หรืออาจพิจารณาให้ยาทานเพื่อให้หายขาด หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้เล็บถูกทำลายจนใช้การไม่ได้ จนต้องถอดเล็บได้
    นอกจากเชื้อราตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเหล่านี้แล้ว ยังพบเชื้อราตามที่ๆ มีความชื้น ความอับอีกมากมาย เช่น เชื้อราในปาก รักแร้ เชื้อราที่เท้า (ฮ่องกงฟุต) รวมไปถึงกลากเกลื้อนตามผิวหนังภายนอก ส่วนใหญ่มีอาการคัน มีผื่น หากพบความผิดปกติที่ผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย ยังไม่ควรซื้อยาทาเอง แต่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยละเอียดมากกว่า

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม