ร่องก้นเป็นแผล ต้องสงสัย โรคแผลปริที่ขอบทวารหนัก





   ร่องก้นเป็นแผล หรือโรคแผลปริที่ขอบทวารหนัก มาทำความรู้จักกันก่อน

          ร่องก้นเป็นแผลหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าแผลปริขอบทวารหนัก หรือแผลรอยแยกขอบทวารหนัก คือแผลที่ขอบหรือปากทวารหนัก มีลักษณะเป็นรอยปริเกิดขึ้นบริเวณขอบทวารหนัก โดยทั่วไป   จะเห็นแผลเป็นรอยปริอยู่ตรงกลางทางด้านหลัง หรือตรงกลางทางด้านหน้าของทวาหนัก มีอาการเจ็บรุนแรงเมื่อเทียบกับขนาดแผล และพบอาการร่องก้นเป็นแผลได้บ่อยไม่น้อยไปกว่าโรคริดสีดวงทวารเลย
ร่องก้นเป็นแผล สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

          อาการร่องก้นเป็นแผลหรือแผลปริที่ขอบทวารหนักส่วนมากพบว่าเกิดจากพฤติกรรมการเบ่งถ่ายที่รุนแรงจากอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ตลอดจนการถ่ายอุจจาระเหลวเรื้อรังหรืออาการท้องเสียเรื้อรัง อันส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดปากทวารหนักทำงานเพิ่มขึ้น
หรือบางครั้งอาการร่องก้นเป็นแผลก็เกิดจากการสอดใส่วัสดุแปลกปลอมทางทวารหนัก การร่วมเพศทางทวารหนัก รวมไปถึงเป็นอาการของโรคบางอย่าง เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน วัณโรค โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อ HIV และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ทั้งนี้จะพบโรคนี้ได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและในวัยกลางคน

ร่องก้นเป็นแผล อาการเป็นอย่างไร

          - เจ็บหรือแสบทวารหนักขณะเบ่งถ่าย อาจมีอาการเจ็บหรือปวดขอบทวารหนักยาวนานหลายชั่วโมงหลังถ่าย ในรายที่มีอาการเรื้อรัง

          - ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดสีแดงสดออกมาขณะเบ่งถ่าย หรือติดกระดาษชำระมาด้วย

          - มีก้อนหรือติ่งที่ขอบทวารหนัก ร่วมกับอาการข้างต้น

          - มีอาการแสบร้อน คัน รอบ ๆ ขอบทวารหนัก

          - มักมีอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง ถ่ายยากร่วมด้วย

ร่องก้นเป็นแผล รักษาอย่างไร


          การรักษาอาการร่องก้นเป็นแผล หรือโรคแผลปริที่ขอบทวารหนักจะแบ่งไปตามระยะและความรุนแรงของอาการ ซึ่งสามารถจำแนกการรักษาได้ดังนี้

1. การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

          ในเคสที่อาการยังไม่รุนแรงหรือเรื้อรัง เรายังพอรักษาอาการร่องก้นเป็นแผลด้วยตัวเองได้ โดยเพิ่มการกินอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ถ่ายคล่องตัวขึ้น อุจจาระนิ่ม ไม่แข็ง หรือหากมีอาการท้องผูกหนักมาก อาจต้องให้ยาระบายชนิดอ่อนเพิ่ม พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยนั่งแช่น้ำอุ่นหลังถ่าย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดที่บีบตัวมากเกินไปคลายตัวลงได้ และยังเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณทวารหนัก ส่งผลให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย

2. การรักษาด้วยยา

          ในรายที่รักษาด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่หายภายใน 2-4 สัปดาห์ แพทย์อาจใช้ยาช่วยในการรักษา โดยจะมียาเฉพาะที่อันได้แก่ ยาทาและยาเหน็บที่ใช้ในโรคริดสีดวงทวาร, ยาทาที่ช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อหูรูด (ยากลุ่ม Nitroglycerine) เป็นต้น

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด

          การผ่าตัดเพื่อรักษาแผลปริที่ขอบทวารหนัก โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ทางเลือกด้วยกัน ดังต่อไปนี้

- การผ่าตัดถ่างขยายทวารหนัก

          สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตามวิธีเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงมีแผลขอบทวารชนิดเรื้อรัง มีอาการปวดมาก แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดถ่างขยายทวารหนัก เพื่อขยายหรือยืดกล้ามเน้ือหูรูดของขอบทวารหนัก ทําให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นหยุดขมิบหรือหยุดเกร็ง ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงและแผลหายเร็วขึ้นด้วย

- การตัดกล้ามเนื้อหูรูด

          วิธีผ่าตัดนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการขยายตัวมากกว่าปกติ ทำให้ไม่เจ็บเวลาถ่ายอุจจาระ อุจจาระผ่านได้สะดวก ส่งผลให้แผลมีโอกาสหายได้เร็วขึ้น

ร่องก้นเป็นแผล อันตรายไหม

        โดยปกติแล้วถ้าเป็นในระยะเริ่มต้น และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แผลก็จะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้เกิดอาการท้องผูก ท้องเสียบ่อยๆ โอกาสจะกลับมาเป็นอีกก็มีมาก 

          ทว่าในกรณีที่อาการเรื้อรังต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อาจมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ เช่น ปัสสาวะลำบากชั่วคราว และอาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมจากแผลผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์หรือจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งหลังจากทำการผ่าตัดแล้ว ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูแผลตามนัดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด อันอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดก็มักจะหายขาดค่ะ

ร่องก้นเป็นแผล ป้องกันได้ไหม


          เราสามารถป้องกันโรคแผลปริที่ขอบทวารหนักด้วยการดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง ถ่ายคล่อง โดยมีข้อควรปฏิบัติตามนี้เลย

          - กินผัก-ผลไม้ให้มาก ประมาณ 18 ช้อนต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์ที่เพียงพอ ป้องกันอาการท้องผูก และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างเป็นปกติดี

          - ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 

          - หมั่นออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว ส่งผลดีต่อการทำงานของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ท้องไม่ผูก

          - หากมีอาการท้องผูกต้องรีบรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่ถ่ายไม่ออกหลายวัน

          - หากมีอาการท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระเหลวบ่อยครั้งก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาเช่นกัน
          
          - หลีกเลี่ยงการสอดใส่สิ่งแปลกปลอมทางทวารหนัก รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วย

          อย่างไรก็ตามโรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงก็จริง แต่อาการร่องก้นเป็นแผลคงสร้างความเจ็บปวดและความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร ดังนั้นไม่เจ็บไม่ป่วยด้วยโรคอะไรจะดีที่สุดว่าไหมคะ ซึ่งเราเองก็ควรต้องดูแลสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะ ๆ หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอด้วย

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม