โรคคาวาซากิ มีไข้สูงต้องใส่ใจ ปล่อยทิ้งไว้อาจอันตรายถึงตายเลย






 โรคคาวาซากิ คือโรคอะไร

          โรคคาวาซากิพบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยนายแพทย์โทมิซากะ คาวาซากิ ดังนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบครั้งแรก โรคนี้จึงมีชื่อว่า โรคคาวาซากินั่นเอง

          ทั้งนี้โรคคาวาซากิ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Kawasaki disease คือโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย นับว่าโรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงหัวใจที่พบได้แม้ในคนที่มีสุขภาพหัวใจแข็งแรงมาก่อน 

โรคคาวาซากิ สาเหตุเกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคคาวาซากิยังไม่ทราบแน่ชัด แม้จะเคยมีรายงานว่า โรคคาวาซากิอาจเกิดจากการติดเชื้อบางชนิด (ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส) หรือมีการวินิจฉัยจากอาการของโรคไปถึงความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ทว่าท้ายที่สุดทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคคาวาซากิได้

    

โรคคาวาซากิ อาการเป็นอย่างไร

          โรคคาวาซากิมักจะพบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี (โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปี) และส่วนใหญ่จะพบโรคคาวาซากิในเพศชายมากกว่าแพทย์หญิง ซึ่งพ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของโรคคาวาซากิได้ดังต่อไปนี้
          * เด็กจะมีไข้สูงลอย และมักมีไข้ต่อเนื่องนานเกิน 5 วัน หรือบางรายอาจมีไข้ติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์ ทานยาแล้วไข้ก็ไม่ลด แต่มักไม่มีอาการทางหวัด เช่น อาการไอ หรือน้ำมูกไหล

          * มีผื่นขึ้นตามตัว แขน และขา โดยผื่นมักขึ้นหลังมีไข้ได้ 2-3 วัน ลักษณะผื่นที่ขึ้นจะมีหลายแบบ แต่ไม่มีอาการคันร่วมด้วย

          * ตาแดง โดยจะสังเกตเห็นตาขาวมีสีแดงทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่มีขี้ตา

          * ริมฝีปากแห้งแดง อาจแห้งจนปากแตก มีเลือดออก ร่วมกับอาการลิ้นแดงเป็นตุ่มคล้ายผิว    สตรอว์เบอร์รี 

          * ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง แต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายเล็บมือและปลายเล็บเท้า ต่อมาอาการผิวลอกจะลามไปที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีอาการเล็บหลุดได้ โดยหลังจากนั้น 1-2 เดือนจะเกิดรอยขวางที่เล็บ ซึ่งอาการนี้จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์โรคได้ง่ายขึ้นมาก

          * ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต แต่ไม่เจ็บ โดยอาจพบอาการข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของลำคอก็ได้ แต่ก้อนโตมักจะมีขนาดใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร 

โรคคาวาซากิ การวินิจฉัยทำอย่างไรได้บ้าง

          การวินิจฉัยโรคคาวาซากิจำเป็นต้องวินิจฉัยจากอาการแสดงสำคัญ ๆ ร่วมกับการตรวจเลือด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น เนื่องจากว่า อาการของโรคคาวาซากิมักเกิดไม่พร้อมกัน ดังนั้นโอกาสจะวินิจฉัยโรคผิดพลาดไปจึงอาจเกิดขึ้นได้ง่าย

โรคคาวาซากิ รักษาหายไหม

          โรคคาวาซากิเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ โดยการรักษาโรคคาวาซากิจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

          1. การรักษาในช่วงเฉียบพลัน

          แพทย์จะทำการรักษาโดยให้ยา IVIG ขนาด 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ร่วมกับให้รับประทานยาแอสไพรินขนาด 80-120 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน

          2. การรักษาในช่วงไม่เฉียบพลันและต่อเนื่อง

          ในระยะนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยยาแอสไพริน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาหลังไข้ลดลงนานประมาณ 2 เดือน และในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเส้นเลือดแดงโป่งพอง แพทย์จะให้กินแอสไพรินติดต่อกันจนกว่าเส้นเลือดที่โป่งพองจะลดลงอยู่ในขนาดที่ปลอดภัย จึงจะสั่งหยุดยาแอสไพรินซึ่งจะช่วยป้องกันเลือดแข็งตัว

          อย่างไรก็ตาม แพทย์จะทำการนัดตรวจ อัลตราซาวด์หัวใจผู้ป่วยซ้ำ เพื่อเช็กหลอดเลือดหัวใจว่าอยู่ในภาวะปกติดี ไม่มีภาวะหลอดเลือดโป่งพอง ตีบ หรือแคบ ซึ่งหากเส้นเลือดอยู่ในภาวะปกติเป็นเวลา 8 สัปดาห์นับตั้งแต่มีไข้ไปจนถึงเวลา 1 ปี แพทย์จะถือว่าผู้ป่วยหายเป็นปกติ แต่หากอัลตราซาวด์หัวใจแล้วพบภาวะหลอดเลือดผิดปกติ แพทย์จะทำการติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะ และให้ยาแอสไพรินเป็นประจำไปจนกว่าจะรักษาโรคนี้จนหาย

โรคคาวาซากิ เป็นโรคติดต่อหรือไม่

          แม้อาการเริ่มแรกจะมีไข้ แต่โรคคาวาซากิไม่ใช่โรคติดต่อกันได้นะคะ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดโดยมีการอักเสบเกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาการเป็นไข้จึงเกิดจากการอักเสบที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้จากสารคัดหลั่งที่มาพร้อมอาการไอ น้ำมูก หรือน้ำลายนั่นเอง

โรคคาวาซากิ อันตรายไหม

          เนื่องจากเกิดการอักเสบขึ้นหลายแห่งในร่างกาย รวมไปถึงการอักเสบของหลอดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ ซึ่งหากไม่รีบทำการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตหรือมีความพิการหลงเหลืออยู่แม้จะรักษาโรคนี้หายแล้วก็ตาม

          หากพบเห็นเด็กในความปกครองมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ และมีการคล้าย ๆ โรคคาวาซากิ แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาบุตรหลานไปตรวจรักษา เพราะโรคนี้ยิ่งรักษาไวเท่าไรยิ่งมีโอกาสหายขาดได้มากเท่านั้นนะคะ 

ความคิดเห็น