ผู้สูงอายุติดโซเชียลอันตรายไหม? รับมืออย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพ





    ผู้สูงอายุติดโซเชียล เป็นพฤติกรรมที่ดูแล้วเหมือนจะปกติ หากแต่จริงๆ แล้ว กลับมีข้อดีและข้อเสียแทรกอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเราควรศึกษาเรียนรู้
เพื่อช่วยควบคุมพฤติกรรมการเล่นโซเชียลของ ผู้สูงอายุ ให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพตามมา

ทำไมผู้สูงอายุถึงติดโซเชียล

   ปัจจุบัน การติดโซเชียล (Social Addict) ได้แพร่ระบาดสำหรับคนทุกเพศทุกวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนสูงอายุก็ด้วยเช่นกัน สำหรับคนวัยนี้ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสในการพบปะกับเพื่อนฝูงก็มีน้อยลง หลายคนอยู่แต่บ้านอย่างเงียบเหงา ไม่รู้จะทำอะไร จึงเลือกใช้โซเชียลเป็นเพื่อนแก้เหงา และสร้างความบันเทิงในชีวิตประจำวันไปพร้อมๆ กัน แต่นอกเหนือจากเหตุผลนี้ ยังมีเหตุผลอะไรอีกบ้างที่ทำให้ผู้สูงอายุติดโซเชียล เราไปติดตามกันดังนี้เลย
ทันเหตุการณ์ : แน่นอนว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถึงแม้ว่าจะอยู่บ้าน และไม่จำเป็นต้องมีสังคมอื่นๆ อีก แต่ก็ยังมีความต้องการในการรับรู้ข่าวสารเพื่อให้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการติดตามข่าวสารจากทางโซเชียล ก็ค่อนข้างอัพเดทได้ค่อนข้างเร็วเช่นกัน และยังสะดวกสบายกว่าการนั่งเสพข่าวหน้าจอทีวี สำหรับบางรายอาจจะเป็นการอัพเดทสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เทรนด์การดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ หรือสาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันในผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้งานโซเชียล ล้วนแล้วแต่จะทำให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และยังสามารถฝึกความจำได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ลดลงได้ด้วย
สร้างสังคม : การใช้งานโซเชียล สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีการสร้างสังคมหรือมีกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ที่มีความชอบรูปแบบเดียวกันได้เพิ่มมากขึ้น จากช่องทางต่างๆ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ และยังสามารถพบเจอได้จากเว็บไซต์ที่คล้ายกับแหล่งสังคมจำลอง หรืออาจจะเป็นเว็บไซต์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกลุ่มคนที่มีความสนใจในรูปแบบเดียวกัน เช่น การแต่งบ้าน หรืองานอดิเรกอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างสังคมใหม่ๆ ให้กับผู้สูงอายุได้ดีนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการช่วยดึงดูดสังคมเพื่อนเก่าๆ ให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งได้ง่ายขึ้นด้วย
ครอบครัวใกล้ชิด : ในปัจจุบันสังคมครอบครัวส่วนใหญ่ มักจะถูกแยกออกมาอยู่เป็นครอบครัวย่อยมากกว่าครอบครัวใหญ่ ทำให้บางครั้งผู้สูงอายุมักจะไม่ได้พบหน้าลูกหลานบ่อยนัก ส่งผลทำให้รู้สึกเหงาได้บ่อยๆ นำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคอื่นๆ แต่หากผู้สูงอายุสามารถใช้งานโซเชียลได้ ก็ย่อมทำให้สามารถติดต่อพูดคุยกับลูกหลานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวกับภาวะทางจิตได้ง่ายขึ้นด้วย
สร้างกิจกรรม : ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เมื่อถึงวัยเกษียณอาจจะไม่ได้มีกิจกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก ด้วยเพราะอายุที่มากขึ้น ขีดจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างกระฉับกระเฉงมีน้อยลง บวกกับปัญหาสุขภาพอย่างเช่นโรคประจำตัว จึงทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ มีน้อยลง ดังนั้น จึงทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสังคมโซเชียลทำให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ถึงกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ เช่น การเล่นโยคะ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์ ซึ่งมีวิธีการทำตามคลิปวีดีที่ดูและทำตามได้ง่าย อีกทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถรองรับความต้องการของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะค้นหาได้จากการเล่นโซเชียลนั่นเอง

ผู้สูงอายุติดโซเชียล อันตรายหรือไม่ อย่างไร

  สำหรับพฤติกรรมผู้สูงอายุติดโซเชียล ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีและสร้างความอันตรายให้กับผู้สูงอายุได้มากพอสมควร แต่ในเรื่องของการใช้ Social ก็ยังถือว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ไม่ควรจะถึงขั้นติดมากจนเกินไป เพราะหากผู้สูงอายุติดโซเชียลมากก็ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อด้านต่างๆ ตามมาได้ดังนี้
ความสัมพันธ์ : ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมองข้ามเรื่องของความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้สูงอายุเริ่มมีการใช้โซเชียล ก็จะทำให้พบเจอกับผู้คนหลากหลายมากยิ่งขึ้นและพบเจอกับผู้คนที่ให้ความสนใจ เหมือนกับมีโลกส่วนตัวมากขึ้น และก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับคนเหล่านี้มากกว่าคนที่อยู่ข้างตัว ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสามีภรรยา ปู่ย่าตายาย หรือลูกหลาน ล้วนแล้วแต่เกิดผลกระทบจากการพบเจอผู้คนในโลกโซเชียลได้มากยิ่งขึ้น
สุขภาพ : เป็นเรื่องใกล้ตัวที่การดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่เองก็มักจะไม่ทราบ เนื่องจากการใช้งาน Social ก็สามารถส่งผลกระทบกับสุขภาพได้เช่นเดียวกัน เพราะจะต้องมีการใช้งานอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะสายตาในการอ่านข้อมูล ซึ่งบางรายอาจจะต้องถึงกับเพ่งมองบ่อยๆ การใช้มือนิ้วมือถือโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้การไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณปลายนิ้วทำงานไม่สะดวก หรืออาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมาได้ นอกจากนี้ การนั่งเล่น นอนเล่นในบางท่าอาจเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมาโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน
การหลอกลวง : ถึงแม้ผู้สูงอายุจะผ่านประสบการณ์ต่างๆ มามากมาย แต่ในส่วนการใช้ชีวิตภายนอกกับสังคมออนไลน์นั้นย่อมมีความแตกต่างกัน เนื่องจากหลายครั้งเราอาจพบเจอเพื่อนฝูงกลุ่มใหม่ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครนิสัยแท้จริงเป็นยังไง อาจทำให้เสี่ยงต่อการถูกหลอกง่าย ซึ่งปัจจุบันก็มีการหลอกลวงกันผ่านทางเฟสบุ๊คหรือช่องทางออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ทำให้เสียทรัพย์สินกันไปแล้วเป็นจำนวนมาก ด้วยเพราะความไว้วางใจ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังเรื่องการถูกหลอกไว้เป็นอย่างดี
สิ้นเปลืองเวลา : สังคมออนไลน์สามารถที่จะให้ประโยชน์ได้ในเรื่องของการหาข้อมูลความรู้ต่างๆ แต่สำหรับผู้สูงอายุอาจจะใช้งานเพื่อต้องการหาอะไรทำฆ่าเวลาไปวันๆ แต่เพียงเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะมักจะดูไปเรื่อยๆเนื่องจากมีเรื่องที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงระยะเวลาที่นำมาใช้กับสังคมออนไลน์ สามารถที่จะนำไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างคุ้มค่ามากกว่า เช่น ไปออกกำลังกายเบาๆ ตามสวนสาธารณะซึ่งมีโอกาสในการได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ โดยเป็นเพื่อนที่เราเห็นหน้าค่าตากันจริง และยังไม่เสี่ยงต่อการถูกหลอกง่ายเมื่อเทียบกับเพื่อนทางโซเชียลอีกด้วย

โรคในผู้สูงอายุที่เกิดจากการติดโซเชียล

  อย่างที่ทราบว่าภาวะติดโซเชียลในผู้สูงอายุสามารถส่งผลกระทบในเรื่องของสุขภาพได้
โดยสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งโรคที่เกิดจากการติดโซเชียลในผู้สูงอายุ ก็มีดังนี้
1.โรคสมาธิสั้น (Short Attention span)
    โรคสมาธิสั้นสามารถเกิดได้กับผู้สูงอายุที่ติดโซเชียล เนื่องจากโซเชียลมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างที่ผู้สูงอายุมักให้การติดตาม ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน และบางรายอาจจะมีการดูคลิปวีดีโอไปพร้อมๆ กัน จึงส่งผลทำให้ไม่สามารถจดจ่อสมาธิอยู่กับอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเป็นผลทำให้เกิดสมาธิสั้นได้นั่นเอง
2.ภาวะซึมเศร้าจาก Facebook (Facebook Depression Syndrome)
   เป็นภาวะซึมเศร้าที่คล้ายกับภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไป โดยมีสาเหตุมาจาการใช้งาน Facebook เนื่องจากผู้สูงอายุ ได้เห็นหลายคนโพสต์รูปภาพที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่สมบูรณ์แบบจนทำให้ตนเองรู้สึกไร้ค่า ไม่มีใครอยู่เคียงข้าง หรืออาจจะเสียความมั่นใจจากการทักบางคนแต่ไม่ได้รับการตอบรับ ก็สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจากเฟสบุ๊คได้
3.โรคหลงตัวเอง (Narcissism)
   โรคหลงตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว โดยอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ คือ การถ่ายรูปตัวเองในทุกๆ อิริยาบถ  หรืออาจจะเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากเกิดความมั่นใจที่มีมากจนเกินไป จึงทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นโรคหลงตัวเองได้ง่าย
4.โรคละเมอแชท (Sleep Texting)
  โรคละเมอแชทเป็นโรคที่ไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยเท่าไรนัก โดยโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุที่ติดโซเชียล สำหรับอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนคือ ในขณะนอนหลับระบบประสาทภายในร่างกายจะทำการปลุกตัวเอง เพื่อส่งข้อความไปหาบุคคลต่างๆ โดยทำให้ร่างกายมีความรู้สึกอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นแต่ก็อาจจะไม่สามารถจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็มีความเสี่ยงอันตรายและยังมีผลจากการพักผ่อนไม่เพียงพอได้อีกด้วย
5.โรคเครียด (Stressfull)
  โรคเครียดสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งโรคนี้ก็ถือเป็นโรคพื้นฐานที่สามารถเกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลาในผู้สูงอายุที่ติดโซเชียล เนื่องจากอาจจะไปใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยอย่างเช่น การที่คนอื่นๆ ไม่กดติดตามหรือกดไลค์เพื่อแสดงความสนใจโพสต์ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะจิตตก คิดมาก วิตกกังวล และส่งผลทำให้เกิดโรคเครียดได้
6.โรควุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Floater)
  โรควุ้นในตาเสื่อม เป็นโรคพื้นฐานที่มักพบในผู้สูงอายุที่มีการใช้งาน Social Media มากเกินไป เมื่อสายตามีการใช้งานหนักมาก ย่อมทำให้วุ้นที่อยู่ในตามีอาการเสื่อมสภาพ เมื่อมองไปที่หน้าจอหรือบริเวณโดยรอบก็อาจจะรู้สึกถึงอาการภาพขุ่น หรือมีอะไรมาทำให้รำคาญอยู่ภายในตา หากมีอาการดังกล่าวนั่นหมายความว่า กำลังเผชิญกับอาการโรควุ้นในตาเสื่อมระยะแรกๆ แล้วนั่นเอง

วิธีแก้ปัญหาผู้สูงอายุติดโซเชียล

   หากิจกรรมทำเพิ่ม : ผู้สูงอายุหลายคนอาจไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้มากนัก ด้วยเพราะสภาวะร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้การเล่นโซเชียลถือเป็นกิจกรรมพื้นฐานหลักที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ดังนั้น ลูกหลานหรือคนในครอบครัว ควรแบ่งเวลาเพื่อพาผู้สูงอายุได้ออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง เช่น พาไปเที่ยว ไปออกกำลังกาย ทำอาหารหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ปิดการแจ้งเตือน : อาจเป็นวิธีที่แลดูโหด แต่การปิดแจ้งเตือนสามารถช่วยดึงความสนใจของผู้สูงอายุให้ออกห่างจากโซเชียลได้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อไม่มีสัญญาณการแจ้งเตือนก็ย่อมทำให้ผู้สูงอายุใส่ใจโซเชียลน้อยลง และจะได้หันเหความสนใจออกห่าง เพื่อไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเลือกปิดการแจ้งเตือนแค่เฉพาะบางแอพลิเคชั่นเท่านั้น
หลีกเลี่ยงการใช้มือถือเป็นนาฬิกาปลุก : ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นนาฬิกาปลุก เพราะสุดท้ายแล้ว ก็เป็นวิธีที่ทำให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา และจะไม่สามารถควบคุมความต้องการในการเข้าเล่น Social Media ต่างๆ ได้

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม