โรค SLE ห้ามกินอาหารอะไรบ้าง ไม่อยากอาการทรุดต้องดูแล

 




โรค SLE ห้ามกินอาหารอะไรบ้าง
        
          จริง ๆ แล้วในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่า อาหารชนิดไหนที่สามารถทำให้อาการ SLE กำเริบ หรือแม้แต่อาหารที่ช่วยให้อาการของโรค SLE ดีขึ้นได้ก็ยังไม่พบข้อมูลทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพูดถึงการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรค SLE จะมีลักษณะเหมือนกับแนวทางการกินเพื่อสุขภาพที่ดีทั่วไปนั่นเอง

          พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ป่วยโรค SLE ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สด ไม่สุก หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่ไม่สะอาด หรือเสี่ยงต่อการปนเปื้อน เพราะผู้ป่วยโรค SLE มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นอาหารที่จะรับประทานก็ควรถูกสุขอนามัยอย่างที่สุด 

          แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลด้านอาหารการกินของผู้ป่วยโรค SLE เราก็พอมีข้อมูลอาหารที่ผู้ป่วยโรค SLE ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดโอกาสเกิดอาการที่รุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนได้ ซึ่งมีตามนี้เลยค่ะ

1. เนื้อแดง

          เนื้อแดงมีไขมันอิ่มตัวค่อนข้างสูง เสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรค SLE ควรเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงอย่างเนื้อแดง และเนื้อสัตว์ไขมันสูงทุกชนิดไว้จะดีกว่า แล้วเปลี่ยนมารับประทานเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอแรล ซึ่งมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยป้องกันอาการอักเสบในร่างกายได้ และถ้าจะให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก แนะนำเป็นอาหารประเภทโปรตีนไขมันต่ำอย่างเนื้อไก่และถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกค่ะ  

2. อาหารไขมันสูง อาหารที่มีไขมันทรานส์

          อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภททอด อาหารมัน ๆ หรือพวกเค้ก คุกกี้ แครกเกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ และโดนัท รวมไปถึงบรรดาอาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายที่มีไขมันทรานส์แอบแฝงอยู่ ผู้ป่วยโรค SLE ก็ควรเลี่ยงให้ไกลด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่บอกไปแล้วนะคะว่า อาหารไขมันสูงอาจทำให้ผู้ป่วย SLE มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อระบบใด ๆ ในร่างกายแน่นอน หนำซ้ำยังอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ อย่างโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวานได้อีก

3. คาเฟอีน

          คาเฟอีนในที่นี้หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นไปได้อยากให้งดไปเลยจะดีมากค่ะ เพราะคาเฟอีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว รวมไปถึงอาจกระตุ้นระบบในช่องท้องด้วย ซึ่งยาบางตัวที่ใช้รักษาคนไข้ SLE บางราย ก็มีจุดประสงค์ให้คนไข้นอนหลับได้ดีขึ้น หรือยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงเรื่องระบบลำไส้อยู่แล้ว ดังนั้นก็อย่าให้คาเฟอีนมาซ้ำเติมร่างกายเราเลยดีกว่า

  
4. อาหารเค็มจัด

          ผู้ป่วยโรค SLE ควรลดปริมาณการรับประทานเกลือให้ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วย SLE ที่เสี่ยงหรือเป็นโรคไตและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงของอาการได้หากกินอาหารรสเค็มจัดอย่างอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างมาก

5. แอลกอฮอล์

          เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยส่งผลดีกับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีก็ตาม ยิ่งในเคสผู้ป่วยโรค SLE ที่ต้องกินยารักษาอาการเป็นประจำ ยิ่งไม่ควรจะดื่มแอลกอฮอล์ด้วยประการทั้งปวง เพราะยาบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ และทำให้อาการป่วยของเราแย่ไปด้วยได้นะคะ

6. อาหารประเภทแป้งขัดสี และน้ำตาล 

          ผู้ป่วยโรค SLE ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ จะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานแทรกซ้อนได้ง่าย ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณน้ำตาล และอาหารประเภทแป้งขัดขาวอย่างขนมปังขาว ข้าวขาว ข้าวเหนียว เป็นต้น เพราะหากรับประทานน้ำตาลและอาหารประเภทแป้งอย่างไม่ระมัดระวัง อาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยโรค SLE แนะนำเป็นข้าวซ้อมมือ โฮลวีท โฮลเกรน ซึ่งนอกจากจะมีวิตามินเยอะกว่าแป้งขัดสีแล้ว ยังมีไฟเบอร์สูง ช่วยป้องกันอาการท้องผูก และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจไปด้วยในตัว

7.  กระเทียม

          แม้กระเทียมจะเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงสุขภาพได้หลายอย่าง แต่สำหรับผู้ป่วยโรค SLE กลับควรเลี่ยงกระเทียมและอาหารประเภทหน่อให้ไกลเลยค่ะ เพราะข้อมูลทางการแพทย์พบว่า กระเทียมมีสาร Allicin, Ajoene และ Thiosulfinates ซึ่งอาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และอาจทำปฏิกิริยากับยาประเภทสเตียรอยด์ อาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้

โรค SLE ควรกินอาหารอะไรเพิ่มเติม

          นอกจากอาหารที่ให้สารอาหารครบ 5 หมู่ และอาหารที่สด สะอาดแล้ว อาหารที่ผู้ป่วยโรค SLE ควรกินเพิ่มเติมก็มีดังนี้


1. อาหารแคลเซียมสูง
          ผู้ป่วยโรค SLE ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมโค นมถั่วเหลือง เต้าหู้ งา ข้าวโอ๊ต เป็นต้น เนื่องจากผู้ป่วยโรค SLE มีแนวโน้มจะป่วยด้วยโรคกระดูกพรุน และปัจจัยที่ผู้ป่วยต้องกินยาสเตียรอยด์ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้มาก

2. วิตามินดี

          นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ เผยว่า จากงานวิจัยทำให้ทราบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการขาดวิตามินดีกับความรุนแรงทางอาการของโรค SLE เนื่องจากผู้ป่วยโรค SLE ควรต้องเลี่ยงการถูกแสงแดด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ขาดวิตามินดีจากแสงแดดได้ และก็เหมือนโชคร้ายที่คนเราต้องรับวิตามินดีจากแสงแดดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และหากหวังจะพึ่งวิตามินดีจากอาหารก็ค่อนข้างมีน้อยมาก ดังนั้น นพ.สันต์ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรค SLE รับประทานวิตามินดีเสริม โดยวิตามินดี 2 หรือ เออโกแคลซิเฟอรอล (Vitamin D2 : Ergocalciferol) ขนาด 20,000 ยูนิต เดือนละ 2 เม็ด คือทุก 2 สัปดาห์ทานครั้งละ 1 เม็ด เพื่อลดโอกาสอาการกำเริบ

          อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรค SLE ควรหมั่นรักษาสุขภาพในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไป โดยหมั่นออกกำลังกาย ดื่มน้ำสะอาดให้เยอะ ๆ พักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รวมทั้งควรป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้ไว้ก่อน เช่น ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น แต่ทั้งนี้การฉีดวัคซีนหรือการป้องกันโรคใด ๆ ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ด้วยนะคะ 



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม