ภาวะทุพโภชนาการ ภัยเงียบ เพิ่มความเสี่ยงโรคในผู้สูงอายุไม่รู้ตัว





  ภาวะทุพโภชนาการ เป็นภาวะที่ควรจะต้องระวังสำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะเป็นภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพและสามารถสร้างปัญหาได้หลากหลาย
เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร เมื่อเกิดการขาดสารอาหารแล้ว ย่อมส่งผลทำให้สุขภาพร่างกายย่ำแย่
เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและเจ็บป่วยได้ง่ายอีกด้วย วันนี้เราไปดูกันนะคะว่า ภาวะทุพโภชนาการ คืออะไร? รักษาอย่างไรให้หาย

ภาวะทุพโภชนาการ คืออะไร

   ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายเพราะโดยปกติแล้วร่างกายต้องการสารอาหารถึง 40 ชนิดต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ วิตามิน โปรตีน และกรดอะมิโนผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจจะรับประทานอาหารได้น้อย หรือเลือกกินเพียงบางอย่าง จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดความไม่สมดุลของการได้รับสารอาหารของร่างกาย

ภาวะทุพโภชนาการ มีกี่ชนิด

สำหรับภาวะทุพโภชนาการ สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้
1.ภาวะทุพโภชนาการในการเจริญเติบโต
  เป็นชนิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยบางรายอาจจะมีปัญหาด้านพัฒนาการทางร่างกาย เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาได้เหมาะสมตามอายุและน้ำหนัก
2.ภาวะทุพโภชนาการแบบเฉียบพลัน
  เป็นภาวะของการขาดสารอาหารจากการที่น้ำหนักลดลงแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะคนสูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นชนิด marasmus โดยเป็นชนิดที่เกิดจากการย่อยสลายไขมัน และกล้ามเนื้อในร่างกาย เพื่อทดแทนสาอาหารที่ควรจะได้รับ
3.ภาวะทุพโภชนาการแบบเรื้อรัง
  เป็นชนิดที่มีผลกระทบตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เพราะอาจจะได้รับสารอาหารไม่ครบ จึงให้มีร่างกายแคระแกร็น
4.ภาวะทุพโภชนาการแบบขาดสารอาหารบางชนิด
  เป็นชนิดที่มักจะเกิดการขาดสารอาหารแบบเฉพาะเจาะจงชนิด โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะขาดสารอาหารที่สำคัญหลักๆ  ของร่างกาย คือ
  • วิตามินเอ บี สี และดี
  • โฟเลต
  • ไอโอดีน
  • เหล็ก
  • สังกะสี
  • ซีลิเนียม

สาเหตุของภาวะทุพโภชนาการของผู้สูงอายุ

 ภาวะทุพโภชนาการ โดยทั่วไปแล้ว สามารถที่จะเกิดได้จากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารมากเกินไป
แต่สำหรับผู้สูงอายุจะเกิดจากการที่ร่างกาย ได้รับสารอาหารน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย โดยมีสาเหตุ ดังนี้
1.ปัญหาสุขภาพ
   ปัญหาสุขภาพเบื้องต้น สามารถที่จะส่งผลกระทบต่อการเป็นภาวะทุพโภชนาการของผู้สูงอายุ โดยปัญหาสุขภาพที่ส่งผลได้ มีดังนี้
โรคสมองเสื่อม : เป็นสาเหตุที่มักเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้เกิดการลืมรับประทานอาหาร
โรคที่ส่งผลต่อความอยากอาหาร : โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้น ซึ่งเป็นโรคที่จะต้องผ่านการรักษา โดยการรักษาโรคเหล่านี้จะช่วยลดความอยากอาหาร โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่จะต้องมีการฉายรังสี ซึ่งกระบวนการรักษาหรือการฉายรังสีนั้นจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากกลืนอาหารหรือกลืนอาหารลำบาก และยังรู้สึกเบื่ออาหารง่ายอีกด้วย อีกทั้งส่วนใหญ่จะรับแค่เครื่องดื่ม หรืออาหารเหลวได้แต่เพียงเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย และลดความอยากอาหารลงมา
โรคทางจิต : โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติในด้านของระบบประสาทที่ควบคุมด้านอารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงทำให้ช่วยลดความอยากอาหารลงไป นอกจากนี้ ยังมีโรคกลัวอ้วนที่เป็นสาเหตุของการขาดสารอาหารด้วยเช่นเดียวกัน
โรคพิษสุราเรื้อรัง : เมื่อเป็นโรพิษสุรา ก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อกระเพาะจึงทำให้การย่อยอาหารทำงานหนักขึ้น และเกิดภาวะการเบื่ออาหารหรือไม่อยากกินอาหารได้
ขาดนมแม่ : เนื่องจากทารกในบางรายอาจจะไม่ได้ดื่มนมแม่ ดังนั้น จึงทำให้ขาดสารอาหารที่สำคัญไป
ประสาทรับรส : สำหรับผู้สูงอายุปุ่มรับรสที่ลิ้นจะเสื่อมสภาพลง ทำให้มีจำนวนปุ่มรับรสที่น้อยลง เพราะฉะนั้นการรับรู้เกี่ยวกับรสชาติอาหารก็จะน้อยลงด้วย จึงทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร
ประสาทรับกลิ่น : จะมีความคล้ายคลึงกันกับประสาทรับรส เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้นระบบประสาทรับกลิ่นจะเสื่อมตามไปด้วย จึงจะลดความอยากอาหารให้กับผู้สูงอายุ
2.ปัจจัยสภาพแวดล้อม
 ความยากจน : บางครอบครัวอาจจะมีปัญหาการเงิน จึงทำให้ไม่สามารถเลือกการรับประทาอาหารได้มากนัก จนทำให้เกิดการขาดสารอาหาร
ความเข้าใจ : สำหรับผู้สูงอายุบางรายนั้นอาจจะไม่ได้มีการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสมของร่างกาย จึงเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพโภชนาการขึ้นได้
การใช้ชีวิต : ผู้ที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว แล้วต้องอยู่ตัวคนเดียวอาจจะไม่ได้ใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหาร จึงทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่ครบครัน
การไม่ได้ทำอาหาร : สำหรับผู้สูงอายุบางราย ช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่นอาจจะสามารถทำอาหารทานเอง
จึงสามารถที่จะเลือกรับประทานได้อย่างถูกใจและครบคุณค่าทางโภชนาการ แต่พออายุมากขึ้นก็อาจจะไม่สามารถทำอาหารเองได้อย่างสะดวกอีกต่อไป

อาการของภาวะทุพโภชนาการ

สำหรับอาการผู้สูงอายุที่เป็นภาวะทุพโภชนาการนั้น สามารถที่จะสังเกตได้ ดังนี้
  • น้ำหนักลด
  • ไม่อยากอาหาร
  • เหนื่อย
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • ป่วยจะหายได้ช้า
  • รู้สึกหนาวอยู่ตลอดเวลา

โภชนาการต้องห้ามของผู้สูงอายุ

  เพื่อเป็นการป้องกันผู้สูงอายุในการเป็นภาวะทุพโภชนาการ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการต้องห้ามจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนี้
แป้ง และน้ำตาล : ผู้สูงอายุควรที่จะงดการรับประทานข้าวขัดสี รวมถึงขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ และน้ำตาลปริมาณมาก เช่น ของเชื่อม ของกวน
เนื้อสัตว์ : โดยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีมันมาก และหนังสัตว์
ผลไม้หวาน : ทุเรียน มะม่วงสุก ขนุน เงาะ มังคุด ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง

วิธีรักษาภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ

การรักษาภาวะทุพโภชนาการของผู้สูงอายุ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแต่ละราย
ภาวะทุพโภชนาการ : ความรุนแรงต่ำ
สำหรับการรักษาจะไม่วุ่นวายมากนัก เพราะจะยังไม่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะทุพโภชนาการแสดงให้เห็นได้ชัดเจน  แต่ก็อาจจะมีสัญญาณเตือนเล็กน้อย เช่น อาการเพลีย เหนื่อยง่าย ดังนั้น วิธีการรักษาคือ สังเกตการรับประทานอาหารในแต่ละวันว่าได้รับแร่ธาตุ วิตามิน หรือสารอาหารภายในร่างกายตามที่ต้องการหรือไม่ และพยายามเติมให้ครบ
ภาวะทุพโภชนาการ : ความรุนแรงปานกลาง
   สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นภาวะทุพโภชนาการในขั้นปานกลางนั้น อาจจะต้องเริ่มมีการพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะช่วยในการรักษา ดังนี้
  • วางแผนการรับประทานอาหาร
  • การเลือกอาหารว่างระหว่างมื้อ
  เพื่อที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีระดับแคลอรี่ที่เหมาะสมในการนำไปใช้งาน นอกจากนี้ จะต้องหมั่นรับประทานอาหารให้มีวินัยตามที่จัดเอาไว้ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการเป็นภาวะทุพโภชนาการแบบเรื้อรัง
ภาวะทุพโภชนาการ : ความรุนแรงมาก
  ผู้สูงอายุที่เป็นภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงที่สุด จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะบางรายอาจจะมีปัญหาถึงขั้นไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารเองได้
แต่หากสามารถที่จะรับประทานได้ ก็สามารถที่จะรับประทานได้น้อย เพราะฉะนั้นแพทย์ก็จะมีวิธีในการรักษาโดยเฉพาะ โดยทำได้คือ
  • การให้อาหารผ่านทางท่อจมูกลงสู่กระเพาะ
  • การให้อาหารผ่านท่อที่เจาะผ่านท้องสู่กระเพาะโดยตรง
  • การให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ
และสำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องให้สารอาหารผ่านท่อ แต่อาจจะไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารได้ตามปกติ ก็ควรที่จะต้องได้รับการบำบัดในด้านของการเคี้ยวและการกลืนอาหาร

วิธีป้องกันภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ

สำหรับวิธีป้องกันภาวะนี้ที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุนั้น สามารถทำได้ ดังนี้
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำลายกระเพาะอาหาร ลดการดูดซึมสารอาหาร
  • ดื่มนมพร่องมันเนย วันละ 1 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น หวาน เค็ม
  • เลือกวิธีปรุงอาหาร โดยใช้การอบ นึ่ง ต้ม
ภาวะทุพโภชนาการ เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผู้สูงอายุ และควรที่จะต้องเอาใจใส่ เพราะหากผู้สูงอายุเป็นภาวะทุพโภชนาการจะเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้น ผู้ที่ดูแลจะต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินของผู้สูงอายุให้มากขึ้น และดูแลรักษาสุขภาพของคนที่คุณรักให้มาก ปรับเปลี่ยนบางพฤติกรรมหรือรักษาปัญหาสุขภาพที่ทำให้มีผลไม่อยากทานอาหาร ก็จะช่วยรับมือภาวะนี้ได้แล้ว

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม