เราเป็นไหม.. Atelophobia โรคกลัวตัวเองดีไม่พอ กังวลว่าจะไม่เพอร์เฟกต์





  โรค Atelophobia คืออะไร

          โรค Atelophobia จัดเป็นโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง โดยคำว่า Atelophobia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก Atelo แปลว่า ไม่สมบูรณ์แบบ และ phobia แปลว่า ความกลัว เมื่อรวมกันแล้ว Atelophobia จึงแปลได้ว่า อาการกลัวความไม่สมบูรณ์แบบนั่นเอง

          ทั้งนี้อาจอธิบายโรค Atelophobia ให้เห็นภาพง่ายขึ้น เช่น ศิลปินวาดภาพใดภาพหนึ่งไม่เสร็จสักที เพราะวาดแล้วลบ ลบแล้ววาดใหม่ เนื่องจากเห็นว่างานยังไม่เพอร์เฟกต์ ไม่เป็นที่พอใจ และเขาจะจมอยู่กับงานเขียนนั้นอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เป็นต้น

โรค Atelophobia เกิดจากอะไร

          โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงมักมีสาเหตุมาจากความกลัวที่ฝังใจในวัยเด็ก การเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เด็กไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้ดีพอ เช่น ครอบครัวที่ญาติพี่น้องมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ครอบครัวที่คาดหวังกับลูกมากจนเกินไป 

          นอกจากนี้สภาพสังคมก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรค Atelophobia ได้ เช่น การอยู่ในสภาพสังคมที่ชิงดีชิงเด่นกัน โดยเฉพาะในวัยรุ่นและวัยทำงาน เป็นต้น 

โรค Atelophobia อาการเป็นอย่างไร

          คนที่เป็นโรค Atelophobia หรือกลัวความไม่สมบูรณ์แบบมักจะมีความวิตกกังวลว่าตัวเองจะทำในสิ่งที่ไม่ดีพอ กลัวว่าสิ่งที่จะทำจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด และหากผลลัพธ์ที่ได้มาไม่ตรงไปตามความคาดหวัง จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ผิดพลาด และมีความเครียด หรืออาจจะมีภาวะซึมเศร้าได้

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วย Atelophobia รู้สึกวิตกกังวลหรือมีความกลัวในความไม่สมบูรณ์แบบขึ้นมา อาการแสดงของผู้ป่วยโรค Atelophobia จะมีดังนี้

          - วิตกกังวลอย่างรุนแรง

          - หายใจสั้น ถี่ หายใจหอบ

          - หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

          - เหงื่อแตก

          - คลื่นไส้ อาเจียน

          - ปากแห้ง คอแห้ง

          - สับสน ไม่เป็นตัวของตัวเอง

          - ขาดสมาธิ

          - ตัวสั่น

          - อยู่ไม่สุข

          - อ่อนแรง

          - สูญเสียการควบคุมอารมณ์และการกระทำ

          - เก็บตัว แยกตัวเองออกจากสังคม
          
          - ปวดศีรษะ

          อาการของโรค Atelophobia จะค่อนข้างคล้ายกับอาการกลัวหรือโฟเบียทั่วไป ซึ่งเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นเร้าความกลัวเหล่านั้น ก็จะมีอาการแสดงทางกายดังข้างต้น

Atelophobia รักษาอย่างไร

          แนวทางการรักษาโรคกลัวหรือโฟเบีย (Phobia) มีวิธี ดังนี้

1. การบำบัดรักษาโรคกลัวตามแนวทางการหยั่งเห็น (Insight therapy)

         เป็นการรักษาที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเอง การพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพื่อนำไปสู่การควบคุมและปรับปรุงความคิด รวมไปถึงพฤติกรรมของตนได้ดีขึ้น

2. การบำบัดรักษาโรคกลัวตามแนวทางพฤติกรรมบำบัด (Behavior therapy)

         วิธีนี้จะประกอบไปด้วยแนวทางการลดความกลัวด้วยการวางเงื่อนไข วิธีลดความกลัวอย่างเป็นระบบ วิธีเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าของโรคกลัว ซึ่งในแต่ละวิธีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะปรับการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล

3. การรักษาด้วยยา
          ในกรณีที่คนไข้มีอาการหนัก กล่าวคือ อาการของโรคกลัวส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ยาก แพทย์อาจให้ยาจิตเวชเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคร่วมด้วย 

          โรคทางจิตเวชไม่ว่าจะโรคใด ๆ ก็ตาม หลักสำคัญอยู่ที่ตัวผู้ป่วยด้วยนะคะว่าจะยอมรับและดำเนินการรักษาตามกระบวนการของจิตแพทย์ไหม เพราะหากผู้ป่วยไม่ยอมรับ ไม่ร่วมมือ การรักษาโรคก็อาจทำได้ยาก ซึ่งจริง ๆ แล้วหากได้รับการบำบัดรักษา โรคกลัวที่เป็นอยู่ก็จะหายเป็นปกติได้แน่นอน

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม