ตาเข ตาเหล่ เกิดจากอะไร จ้องหน้าจอนาน ๆ ก็เป็นได้จริงหรือ







 ตาเหล่ ตาเข คืออะไร

          โรคตาเหล่ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Strabismus หรือ Squint เป็นภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแกนเดียวกัน ส่งผลให้ไม่สามารถมองวัตถุเดียวกันพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้างได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักใช้ตาข้างที่ปกติจ้องมองวัตถุ ทั้งนี้ตาเหล่อาจมีลักษณะเบนออกด้านนอก หรือเหลือบขึ้นด้านบน หรือสังเกตเห็นว่าตาดำข้างหนึ่งตรงดี แต่ตาดำอีกข้างหันเข้าหาหัวตา โดยโรคตาเขอาจเป็นเฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง หรือสลับข้างกันไปมา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นอาการตาเหล่ประเภทใด

ตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร
          สาเหตุของโรคตาเหล่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ตาเหล่ เกิดจากอะไรกันแน่ ทว่าจากสถิติจะพบว่าสาเหตุของโรคตาเหล่ อาจจำแนกออกได้ดังนี้

1. กรรมพันธุ์

          ภาวะตาเขในเด็กมักจะตรวจพบว่าตาเขตั้งแต่แรกเกิด หรือภายในอายุ 6 เดือนจะตรวจพบว่ามีภาวะตาเขชนิดเข้าด้านใน หรือตาเขออกด้านนอก ซึ่งเมื่อซักประวัติแล้วก็มักพบว่า มีคนในครอบครัวเป็นโรคตาเหล่อยู่ แสดงให้เห็นว่าโรคตาเหล่อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้

2. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อดวงตา
          ตาเหล่อาจเกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อดวงตาแต่ละข้างทำงานไม่สมดุลกัน เช่น ปัญหาสายตายาวในเด็ก ที่ทำให้เด็กต้องเพ่งมองเพื่อปรับสายตาให้ชัด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับตาข้างใดข้างหนึ่งได้ และโดยส่วนมากจะก่อให้เกิดอาการตาเหล่เข้าข้างใน รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาสายตาสั้นเอียง ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาเขได้เช่นกัน

3. มีโรคในตาข้างใดข้างหนึ่ง

          ปัญหาสุขภาพดวงตาที่ส่งผลให้สายตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลง มองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนปกติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน เกิดเป็นภาวะตาเขในทึ่สุด

4. ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง

          จากสถิติพบว่า เด็กที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เด็กที่มีพัฒนาการทางร่างกายช้า เด็กที่มีความผิดปกติด้านการทำงานของสมอง มักจะเกิดภาวะตาเขได้มากกว่าเด็กทั่วไป
5. โรคมะเร็งจอตา

          สาเหตุของภาวะตาเขนี้มักพบในเด็กเล็กที่เป็นโรคมะเร็งจอตาแต่กำเนิด ซึ่งหากไม่รีบรักษา มะเร็งอาจลุกลามและทำให้เด็กเสียชีวิตได้

6. โรคทางกายอื่น ๆ 

          ภาวะตาเขในเคสนี้มักจะพบได้ในผู้ใหญ่ หรือในเด็กโตที่ไม่มีอาการตาเขมาแต่กำเนิด ทว่าเป็นโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อดวงตา ทำให้เกิดอาการตาเหล่ได้ ซึ่งสามารถจำแนกโรคที่ก่อให้เกิดอาการตาเขได้ดังนี้
          - โรคเนื้องอกในสมอง ที่ส่งผลให้เส้นประสาทเส้นที่ 3 4 หรือ 6 ถูกทำลายหรือกดทับ จนเกิดอาการตาเขได้

          - โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอที่ลุกลามมารบกวนกล้ามเนื้อดวงตา หรือประสาทตา เช่น มะเร็งไซนัส และมะเร็งหลังโพรงจมูก

          - โรคเบาหวาน หากเป็นเบาหวานขึ้นตาก็อาจทำให้กล้ามเนื้อตาอัมพาต เกิดอาการตาเขหรือตาบอดได้

          - โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคไทรอยด์เป็นพิษมักส่งผลกระทบกับการทำงานของกล้ามเนื้อประสาทตา ถ้าเป็นเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดภาวะตาเขได้

          - โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจนเกิดภาวะตาเขได้

          - อุบัติเหตุทางตาและสมอง ที่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอัมพาต และมีอาการตาเหล่ตามมาได้

          อย่างไรก็ตาม อาการตาเขส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในวัยเด็ก และมักจะพบว่ามีอาการตาเขมาตั้งแต่เกิด ซึ่งสาเหตุของอาการตาเขมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ทว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาเขจริง ๆ ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดนะคะ

ความคิดเห็น